กรมอุตุฯ เตือนมรสุมถล่มยับ 9 มิ.ย.นี้ เช็กพื้นที่ฝนตกหนัก เสี่ยงน้ำท่วม
วันนี้ 9 มิถุนายน 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อัปเดตพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักและน้ำท่วม ระหว่างวันที่ 9-18 มิถุนายน 2566 โดยอ้างอิงจากข้อมูลศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) เป็นการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุก ๆ 24 ชั่วโมง) 10 วันล่วงหน้า โดยมีรายละเอียดดังนี้
วันที่ 9-10 มิถุนายน 2566 ยังมีฝนเกิดขึ้นต่อเนื่องบริเวณประเทศไทยตอนบน แต่ปริมาณฝนที่ตกส่วนใหญ่เป็นฝนเล็กน้อย ถึงปานกลาง การกระจายดีแต่ยังไม่ชุ่มฉ่ำนัก มีเมฆมาก มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง
ส่วนร่องมรสุมได้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบน และ สปป.ลาว ส่วนภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) และภาคใต้ฝั่งตะวันตกด้านรับมรสุม (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง) ยังมีฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักบางแห่ง ต้องระวังฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในระยะนี้ คลื่นลมในทะเลอันดามัน มีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ชาวเรือ ชาวประมง ยังต้องเพิ่มความระวัง
วันที่ 11-18 มิถุนายน 2566 ร่องมรสุมได้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนฝนลดลงบ้าง โดยมีฝนเกิดขึ้นบางแห่ง ส่วนมากด้านตอนบนและด้านตะวันออกของภาคเหนือ และภาคอีสาน ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กทม.และปริมณฑล มีฝน/ฝนฟ้าคะนองบางแห่งช่วงเย็นถึงค่ำ
สำหรับภาคใต้ และภาคตะวันออก ด้านรับมรสุมยังมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมมีกำลังปานกลาง ห่างฝั่งคลื่นสูง ชาวเรือ ชาวประมงต้องเพิ่มความระมัดระวัง ในการเดินเรือในระยะนี้
ทั้งนี้ในช่วงเวลา 05.00 น. ที่ผ่านมา ทางกรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้ออกประกาศเตือน เรื่อง คลื่นลมแรงและฝนตกหนักถึงหนักมาก ฉบับที่ 19 ความว่า
ร่องมรสุมพาดผ่านหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 11 มิ.ย. 66
อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่ทางกรุมอุตุนิยมวิทยาแจ้งไว้อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขอให้ประชาชนคนไทยติดตามข่าวสารจากทางหน่วยงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย