ตำรวจสรุปภาพรวม ทำผิดเลือกตั้งทั่วประเทศ 31 ราย คดีซื้อเสียง 8 ราย
ตำรวจสรุปภาพรวม หลังปิดหีบเลือกตั้ง 2566 ทำผิดเลือกตั้งทั่วประเทศ 31 ราย ดำเนินคดีซื้อเสียง 4 ราย อีก 4 อยู่ระหว่างสอบสวน ที่เหลือมีอาทิ ฉีกบัตร ถ่ายภาพ ฝ่าฝืนขายสุรา ฯลฯ
วันที่ 14 พ.ค.66 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) เปิดเผยภายหลังปิดหีบเลือกตั้งว่า
จากการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งปี 2566 ตลอดทั้งวัน พบว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียงทั้งสิ้น 8 ราย โดยพบพยานหลักฐานชัดเจนและดำเนินคดีไปแล้ว 4 ราย ส่วนอีก 4 ราย อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งซึ่งกันและกัน
สำหรับวันนี้มีเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 31 ราย แบ่งเป็น ฉีกบัตรเลือกตั้ง 23 ราย, บันทึกภาพบัตรเลือกตั้ง 2 ราย, จำหน่ายสุราในเวลาต้องห้ามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.กำหนด 6 ราย ทั้งนี้การฉีกบัตรเลือกตั้งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากผู้สูงอายุ เช่น เป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ บางรายเมาสุราหรือมีอุบัติเหตุหกล้มในคูหาเลือกตั้งจนบัตรฉีกขาด อีกรายเกิดจากการลงคะแนนผิดจึงฉีกบัตร เพื่อขอบัตรใหม่ ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถทำได้ จึงต้องทำการสอบสวนถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่จากการสอบสวนผู้กระทำผิด ยังไม่พบว่าเป็นการตั้งใจก่อเหตุเพื่อแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศลต.ตร. จะเปิดไปจนถึงวันที่ 17 พ.ค.นี้ เพราะยังมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น การดูแลการนับคะแนนเสียง การขนหีบบัตร รวมถึงการป้องกันเหตุกระทบกระทั่งใน 4 จังหวัดที่มีการแข่งขันกันสูงและเคยมีคดียิงกันหลังการนับคะแนน ประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และราชบุรี นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอีก 20 จังหวัดทั่วประเทศ
ส่วนกรณีที่มีประชาชนร้องเรียนเรื่องการกระทำความผิดเรื่องกฎหมายเลือกตั้งผ่าน นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ทางตำรวจจะนำข้อมูลเหล่านี้มาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะขณะนี้ยังถือว่าเป็นข้อมูลด้านเดียวอยู่
ทั้งนี้ ในกรณีมือปืนรับจ้าง ที่มักจะก่อเหตุในช่วงก่อนการเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง ปัจจุบันพบว่าน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากก่อเหตุยากขึ้น รวมทั้งทางตำรวจ มีข้อมูลและดำเนินการระดมกวาดล้างอาชญากรรมและอาวุธปืนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะก่อนเลือกตั้ง และคืนหมาหอน ที่มีการตั้งด่านจุดตรวจ จุดสกัดตามพื้นที่เสี่ยง จึงทำให้ ไม่มีการก่อเหตุในลักษณะดังกล่าวเหมือนเช่นในอดีต และทำให้ตำรวจทำงานง่ายขึ้น.