ย้อนเส้นทาง เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ จากนักธุรกิจ-นักแข่งรถ สู่นักการเมืองคนสมุทรปรากร
เปิดประวัติ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ นักธุรกิจ นักแข่งรถชื่อดัง ก่อนหันมาจับงานการเมือง ตามรอยผู้เป็นพ่อ วัฒนา อัศวเหม แวดวงการเมืองพากันเศร้า ขุมกำลังใหญ่พลังประชารัฐ จากไปกระทันหันหลังเกิดอาการฮีทสโตรก
กลายเป็นข่าวที่สร้างความโศกศร้าอย่างมากกับการจากไปของ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ หรือ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อายุ 55 ปี ที่เกิดอาการฮีทสโตรก ขณะซ้อมแข่งรถที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จนต้องเร่งนำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา
กระทั่งต่อมา เมื่อเวลา 01.15 น. ของวันที่ 31 มี.ค.66 ก็มีรายงานว่า เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ ได้เสียชีวิตแล้ว โดยเช้าวันนี้ครอบครัวจะนำร่างกลับมาที่ จ.สมุทรปราการ
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึง เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ เชื่อว่าหลายคนรู้จักเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นอดีตคนรักของนักร้องชื่อดังอย่าง ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย และยังโลดแล่นอยู่ในวงการการเมือง รวมถึงวงการแข่งรถด้วย โดยมีลูกสาว 1 คน คือชนม์ทิดา อัศวเหม หรือ “เพลง” ซึ่งกำลังลงสมัครเป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 5 ในนามพรรคภูมิใจไทย
สำหรับ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2511 เป็นลูกชายของ นายวัฒนา อัศวเหม นักการเมืองชื่อดัง จบปริญญาตรีจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ เป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการเกษตร และน้ำมันเชื้อเพลิง เคยดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ และยังเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ก่อนถูกปลดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เมื่อ พ.ศ. 2558
ขณะที่เส้นทางการเมือง เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคมหาชน เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อแผ่นดิน ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2550 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
ต่อมาได้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ในปี 2551 และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 เขาให้การสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ
ส่วนในการเลือกตั้ง 2566 ที่จะมาถึง นายชนม์สวัสดิ์ และว่าที่ ส.ส.กลุ่มสมุทรปราการ ถือเป็นขุมพลังสำคัญของพรรคพลังประชารัฐด้วย
นอกจากนี้ เจ้าตัวยังชื่นชอบในการแข่งรถ โดยมีดีกรีเป็นถึงแชมป์ Thailand Super Car Class1 ประเภททีม นอกจากนี้มักจะไปปกรากฏตัวยังทำการแข่งขันประลองความเร็วอีกหลายสนาม
ทั้งนี้ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ เคยถูกจำคุกในคดีทุจริตการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ ปี 2542 ซึ่งศาลฎีกาตัดสินเมื่อ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ต่อมาเขาได้รับการพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 8 (3) ขอพระราชทานอภัยโทษพระราชกฤษฎีพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งได้ลดวันต้องโทษ 1 ใน 4 ของโทษที่เหลือ เมื่อ 7 กันยายน พ.ศ. 2559.