ค่าไฟขึ้น เดือนพ.ค.-ส.ค.66 คนใช้ไฟจ่าย 4.77 บาทต่อหน่วย
ค่าไฟขึ้น หลัง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เผย ค่าเอฟทีต่อหน่วย 98.27 สตางค์ เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ประชาชน ภาคธุรกิจ ใช้ค่าไฟฟ้าอัตราเดียว 4.77 บาทต่อหน่วย
หลังจากเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที และพิจารณาการศึกษาการรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 โดยล่าสุดมีมติเห็นชอบค่าเอฟที (Ft) เป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ กกพ. ได้พิจารณาหนังสือยืนยันจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงความเหมาะสมของอัตราค่าไฟฟ้า 4.77 บาทต่อหน่วย ประกอบแล้วด้วย
การพิจารณาค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 เป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากข้อมูลจริงเฉลี่ยในเดือน ม.ค. 66 หากการดำเนินการจริงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากค่าประมาณการดังกล่าว กกพ. จะนำส่วนต่างค่าใช้จ่ายมาปรับปรุงการคิดค่าเอฟที ในรอบต่อๆ ไป ตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่าเอฟที
จากการประชุม กกพ. ครั้งที่ 12/2566 (ครั้งที่ 840) เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 66 ได้มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 กรณี ได้แก่
- ค่าเอฟทีเรียกเก็บ 293.60 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 6.72 บาทต่อหน่วย
- ค่าเอฟทีเรียกเก็บ 105.25 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.84 บาทต่อหน่วย
- ค่าเอฟทีเรียกเก็บ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาทต่อหน่วย
โดยหลังจากได้รวบรวมความเห็นที่มีผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานฯ ไปตั้งแต่วันที่ 10-20 มี.ค. 2566 สำนักงาน กกพ. จึงได้รวบรวมและสรุปประเด็นความคิดเห็นต่อการปรับค่าเอฟที ดังนี้
- เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 1 (ค่าเอฟที 293.60 สต.ต่อหน่วย) = 15%
- เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 2 (ค่าเอฟที 105.25 สต.ต่อหน่วย) = 10%
- เห็นด้วยกับกรณี กษาที่ 3 (ค่าเอฟที 98.27 ด.ต่อหน่วย)= 30%
- ให้คงค่าเอฟที เท่ากับ 93.43 สต.ต่อหน่วย = 10%
- ความเห็นอื่นๆ = 25%
- คำถาม = 10%
ทั้งนี้ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โฆษก กกพ. กล่าวว่า ในการพิจารณาค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 เป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากข้อมูลจริงเฉลี่ยในเดือน มกราคม 2566 หากการดำเนินการจริงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากค่าประมาณการดังกล่าว กกพ. จะนำส่วนต่างค่าใช้จ่ายมาปรับปรุงการคิดค่าเอฟที ในรอบต่อๆ ไป ตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่าเอฟที.