
จากประเด็นดราม่าที่ทาง กัมพูชา เจ้าภาพการแข่งขัน ซีเกมส์ 2023 ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อ “มวยไทย” เป็น “กุน ขแมร์” จนเป็นประเด็นถกเถียงกันข้ามชาติ ล่าสุดแฟนมวยเขมรออกมาเคลมว่า “บัวขาว บัญชาเมฆ” คือคนเขมร ก่อนที่เจ้าตัวจะออกมาแก้ต่าง พร้อมร่ายประวัติยาวเหยียด ว่าตน บัวขาวคือคนไทย เชื้อสายกูย
อย่างที่ทราบกันว่า กัมพูชา ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ แต่ก็เริ่มมีประเด็นให้พูดถึงกันตั้งแต่ที่การแข่งขันยังไม่เริ่ม
เมื่อกัมพูชาที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันได้ประกาศว่า ไม่มีการแข่งขันกีฬา “มวย” (มวยไทย) ตามที่เจอจัดกันมา แต่เปลี่ยนเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของตน ชื่อ “กุน ขแมร์” พร้อมกับระบุว่า ชาติสมาชิกสหพันธ์ซีเกมส์ ยินดีส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันครบ 4 ชาติ ตามกติกาของการแข่งขันซีเกมส์ทุกประการ
อีกทั้งยังไม่สนใจคำประกาศของสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ หรือ IFMA ที่ประกาศแบนชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้ และมีคำยืนยันว่า ประเทศไทย จะไม่ส่งนักกีฬามวยไทยเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ 2023

อย่างไรก็ตาม ทางกัมพูชาเองก็ดูจะไม่สนใจกับคำขู่ที่จะแบบของจาก IFMA และยังเดินหน้าโปรโมต กุน ขแมร์ ต่อไปแบบไม่ได้แคร์สายตาแฟนมวยทั้งอาเซียน จนมีแฟนมวยเขมรรายหนึ่งออกมาเคลมว่า “บัวขาว บัญชาเมฆ” นักมวยขวัญใจชาวไทย ว่าเป็นคนเขมร เพราะมีสายเลือดของชาวเขมรอยู่ อีกทั้งทั่วโลกก็ยังรู้ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้
ก่อนที่ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ) ได้ออกมาโพสต์ร่ายยาวถึงชาติพันธุ์ของนักมวยอดีตแชมป์ เค-วัน 2 สมัยว่าเป็นคนไทยแบบร้อยเปอร์เซนต์ ไม่ได้เป็นชาวเขมรตามที่โดยเคลมแต่อย่างใด

“คืนนี้ว่าด้วยเรื่องวิชาประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ บัวขาว คือ คนไทย เชื้อสายกูย ไม่ไช่เขมร ตามที่เข้าใจ ชาวส่วย (Suai) บางทีก็เรียก กูย (Kuy, Kui), โกย/กวย(Kuoy) ”
“ชาวกูยนิยมเลี้ยงช้างซึ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษ ชาวกูยจะออกไปจับช้างป่าด้วยการคล้องช้าง ด้วยเชือกปะกำ ซึ่งทำจากหนังควาย ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณ เมื่อได้ช้างมาก็จะฝึกเอาไว้ใช้งาน พงศาวดารเมืองละแวกก็มีบันทึกไว้ว่าในพุทธศตวรรษที่ 20 กษัตริย์ขอมแห่งเมืองพระนคร ได้ขอให้แจ้งกุยแห่ง ตะบองขะมุน (ชุมชนกุยทางด้านใต้ของนครจำปาสัก) ส่งกำลังไปช่วยปราบกบฏที่เมืองพระนคร”

“ชาวกุยได้ร่วมขับไล่ ศัตรูจนบ้านเมืองขอมเข้าสู่ภาวะปกติสุข หลักฐานนี้แสดงว่า ขณะที่ชนชาติไทยหรือสยามกำลังทำสงครามขับเคี่ยวกับขอมเพื่อสถาปนานครรัฐสุโขทัยขึ้นมานั้นชาวกุยได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างเป็นปึกแผ่นแล้ว”
“การตั้งหลักแหล่งโดยส่วนมากจะพบ ตามลุ่มแม่น้ำโขงทุก ๆ สายน้ำที่แตกสายน้ำออกไป เช่น อุบล ท่าตูม โพธิ์ศรีสุวรรณ เมืองจันทร์ ห้วยทับทัน สำโรงทาบ และตามสายน้ำไปเรื่อย จนจึง จังหวัดนครราชสีมา ตามเส้นของสายน้ำ”
“เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำโขงบริเวณแนวเขาพนมดงรัก ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ชาวกุยในแคว้นอัสสัมถูกรุกรานโดยชนเผ่าอนารยะ จนบางส่วนต้องละทิ้งถิ่นฐานอพยพข้ามลงมาตามลำน้ำโขง เคยเป็นอาณาจักรหนึ่ง ถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของเมืองกัมปงธม ประเทศกัมพูชา”
“ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 เคยส่งทูตมาค้าขายกับอยุธยาเคยช่วยกษัตริย์เขมรปราบกบฏ ต่อมาเขมรได้ใช้อำนาจทางการทหารปราบชาวกูยและผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งกับเขมร ด้วยความชอบความอิสระและชอบการผจญภัย ได้อพยพขึ้นเหนือ เข้าสู่เมืองอัตตะบือแสนแป แคว้นจำปาศักดิ์ และสารวัน ทางตอนใต้ของลาว แต่ก็ถูกเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุต (เมืองเวียงจันทน์) ปราบปรามและขับไล่ จึงพากันอพยพตามแม่น้ำโขงมาตั้งรกรากอยู่แถบอิสานทางด้านแก่งสะพือ อำเภอโขงเจียม ได้แยกย้ายตั้งรกรากปลูกบ้านเรือนอยู่แถบนี้”

“พ.ศ. 1974 (ปีกุน) ที่จากหลักฐานกฎหมายอยุธยาฉบับพ.ศ. 1974 ได้กล่าวถึงกษัตริย์ของเขมรที่นครธม ได้ทรงขอให้เจ้ากวยแห่งตะบองขะมุม ที่มีเมืองสำคัญอยู่ตอนใต้ของเมืองนครจำปาศักดิ์ ส่งทหารไปช่วยพระองค์ปราบขบถ สำเร็จแล้วประมุขของทั้งสองฝ่ายได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และออกกฎหมายให้คนสยามห้ามยกลูกสาวให้ชาวฝรั่ง อังกฤษ วิลันดา กับปิตัน กุลา มลายู แขก กวย และแกว ซึ่งเป็นคนต่างชาติต่างศาสนา(ที่มา:เอกสารของโครงการแผนที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชายแดนไทย–กัมพูชา โครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยภาษาและพัฒนาเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล)”
“พ.ศ. 2000 พงศาวดารเมืองละแวก กล่าวถีง กษัตริย์เขมร พระเจ้าธรรมราช ซึ่งครองอยู่พระนครหลวงได้ส่งทูตไปขอกองทัพจากกษัตริย์กวยแห่งตะบองขะมุม ที่มีเมืองสำคัญทางตอนใต้ของเมือง จำปาศักดิ์ ส่งทหารไปช่วยปราบกบฏ เมื่อกองทัพของพระเจ้าธรรมราชและเจ้ากวยแห่งตะบองขะมุมได้ปราบกบฏสำเร็จ ประมุขทั้งสองฝ่ายก็ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ (ที่มา ไทย : ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม 2533:35-36)”
“พ.ศ. 2103 หลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ พงศาวดารล้านช้าง กล่าวว่า “ในปี 2103 สมเด็จพระไชยเชษฐิราชต้องทำการปราบปรามพวกข่า และชนเผ่าต่างๆ ที่สร้างบ้านสร้างเมืองอยู่แถวฝั่งแม่น้ำโขงทางใต้นครเวียงจันทน์และใน ที่สุดพระองค์ได้หายสาบสูไปในคราวยกกองทัพไปปราบปรามพวกข่า ในแขวงอัตบือ (ที่มา ไทย : ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม 2533:35-36)”
“พ.ศ. 2114 สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช(จากอาณาจักรลานช้าง) ได้เสด็จออกปราบกบฏ ณ เมืองรามรักองการ แล้วสูญหายไปในศึกนั้น ชาวเมืองจึงได้อัญเชิญ พระเจ้าหน่อแก้ว พระโอรสของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชซึ่งเพิ่งประสูติให้เสด็จขึ้นครองราชย์ (ที่มา:จากประวัติศาสตร์การก่อตั้งอาณาจักรลานช้าง ประเทศลาว)”
“พ.ศ. 2200 เป็นต้นมา จนถึงปลายอยุธยาตอนปลายปรากฏว่ามีชุมชนกวยเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานีจนถึงจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือชนชาวกูยที่บ้านเมืองที บ้านโคกยาง(สังขะ) บ้านกุดหวาย (รัตนะบุรี) และบ้านโคกลำดวน(เมืองขุขันธ์) จังหวัดศรีสะเกษ”

“กูยเญอ พบที่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ กูยไม พบที่ อำเภออุทุมพรพิสัย และ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ”
“กูยมะไฮ พบที่ อำเภอเมืองจันทร์ ส่วนใหญ่อาศัยในเขต ตำบลเมืองจันทร์ และ บ้านโนนธาตุ ตำบลปราสาท อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ กูยปรือใหญ่ พบที่ อำเภอขุขันธ์ เป็นกลุ่มชนชาติพันธ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในแถบพื้นที่เหนือพนมดงรักมานานแล้ว โดยเฉพาะตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ”
“กูยเขาพระวิหาร พบที่ ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ตำบลสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ และ ตำบลจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์”
“ข้อเสนอแนะ เห็นควรใช้ว่า กวย หรือกูย ก็พอจะรับได้ ซึ่งตรงกับชื่อชนเผ่านี้มากกว่าคำว่า “ส่วย” และจากการสืบค้นในเอกสารอื่น ๆ พบว่า ในภาษาเขมรเรียกว่า កួយ (អក្សរសព្ទខ្មែរ: /កួយ/) ในภาษาละตินเขียนว่า kuoy (អក្សរសព្ទឡាតាំង: /kuoy/)”