เช็กสิทธิ์ประกันสังคมเวอร์ชั่นใหม่ 2566 เพิ่มประโยชน์ให้ผู้ประกันตน 4 ประการ
คนไทยควรรู้ สิทธิ์ประกันสังคมเวอร์ชั่นใหม่ 2566 จากสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เพิ่มสิทธิน่าสนใจ 4 ประการ มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง เช็กที่นี่
ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้มีประกันสังคม เพราะสำนักงานประกันสังคม ได้ออกมาแจ้งการเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์เวอร์ชั่นใหม่ 2566 โดยในครั้งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ทั้งหมด 4 หัวข้อหลัก ครอบคลุมการตรวจสุขภาพในสถานประกอบการ, เพิ่มสิทธิในการเข้าถึงการรักษา, ส่งเสริมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตน และลดเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามค่าประสบการณ์ของนายจ้าง
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 3 มกราคม 2566 เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน – Social Security Office ได้ออกมาโพสต์แจ้งสิทธิประกันสังคม 2566 ดังนี้
“🙋🏻♀️ มาเช็กกัน! สิทธิประโยชน์ฉบับใหม่เวอร์ชั่น 2566 เปลี่ยนตรงไหนบ้าง คุ้มมั้ย ถูกใจเรามั้ย
1. โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ
ฟรี! ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือด และโรคหัวใจ
ในสถานประกอบการนำร่อง ใน 7 จังหวัด สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร
- เน้นการค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ
- แบ่งกลุ่มตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง น้อย
- โรงพยาบาลนัดหมายประเมินเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคล ระยะเวลา 6 เดือน ติดตามผล ระบบ Telemedicine และดำเนินการปรับพฤติกรรม
- ตรวจประเมินคัดกรองความเสี่ยง (หลัง)
ผู้ประกันตนได้รับการประเมินสภาวะสุขภาพ โดยเฉพาะโอกาสการเสียชีวิตโรคหัวใจและหลอดเลือด และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เกิดเป็นต้นแบบด้านการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในสถานประกอบการ
2. เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการผ่าตัด เข้าถึงสิทธิการรักษา 5 โรค
ตามโรงพยาบาลที่กำหนด เพื่อลดการรอคอยการผ่าตัดหรือทำหัตถการ โดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ให้แก่สถานพยาบาลที่ดำเนินการผ่าตัดโดยตรงผู้ประกันตน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการ เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค ได้แก่
- โรคมะเร็งเต้านม
- ก้อนเนื้อที่มดลูก
- โรคนิ่วในไต หรือถุงน้ำดี
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
สำนักงานประกันสังคมจะติดตามและประเมินผล เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดบริการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผู้ประกันตนต่อไป
3. ส่งเสริมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกับตน
สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน ร่วมกับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส) ให้วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท” วงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงเหลือต้องไม่เกินวงเงิน 2 ล้านบาท โดยวงเงินการให้สินเชื่อจะเป็นไปตามการพิจารณาและ ดุลยพินิจของธนาคาร
🙆🏻♀️ คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ สถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 12 เดือน (ก่อนเดือนที่เข้าร่วมโครงการ)
〰️ขั้นตอนการยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย〰️
1. ผู้ประกันตนขอหนังสือรับรองสถานะความเป็นผู้ประกันตน แบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซด์www.sso.go.th โดยคลิก ที่เมนู เข้าสู่ระบบผู้ประกันตน/สมัครสมาชิก และเลือก “หนังสือรับรองโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน”
2. ผู้ประกันตนยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารอาคารสงเคราะห์พร้อมเอกสารเบื้องต้น
- หนังสือรับรองสถานะความเป็นผู้ประกันตนออกโดยสำนักงานประกันสังคม
- เอกสารขอสินเชื่อตามหลักเกณฑ์และระเบียบธนาคาร
3. การแจ้งผลการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แจ้งผลการพิจารณากับผู้ประกันตนโดยตรง
ระยะเวลาดำเนินโครงการ ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค 2565 ถึง วันที่ 19 ธ.ค 2566 หรือจนครบวงเงินที่ได้อนุมัติโครงการ
4. ลดเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามค่าประสบการณ์ของนายจ้าง
เป็นอัตราเงินสมทบที่มีวัตถุประสงค์ให้นายจ้างจัดสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันให้แก่ลูกจ้างทำงาน โดยมีเงื่อนไขว่าถ้านายจ้างจ่ายเงินสมทบตามอัตราเงินสมทบหลักมา 4 ปีปฏิทินติดต่อกันแล้ว ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป จะได้รับการลดหรือเพิ่มอัตราเงินตามการประสบอันตรายที่เกิดขึ้น
สถานประกอบการใดที่มีการจ่ายเงินทดแทนต่ำหรือไม่มีเลยจะได้รับการลดอัตราเงินสมทบสูงสุด หากสถานประกอบการรายใดที่มีการจ่ายเงินทดแทนสูง ก็อาจต้องปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบตามค่าของอัตราส่วนการสูญเสีย
ประกันสังคมตั้งใจมอบของขวัญชิ้นนี้ให้ผู้ประกันตน สะดวก ง่าย คุ้มค่า กว่าเดิม เช็กสิทธิแล้วใช้เลย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง”
ทั้งนี้หากใครที่มีรายชื่อในประกันสังคม แต่ไม่แน่ใจในสิทธิของตนเอง ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ฉบับเวอร์ชั่น 2566 หรือไม่ แนะนำให้โทรเข้าไปสอบถามข้อมูลที่ 1506 เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเองกันด้วยนะ.