สปสช. แจงกรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ ขอคืน สิทธิบัตรทอง ชี้แออัดเกิน
สปสช. ชี้แจงกรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ ขอคืน สิทธิบัตรทอง จากเหตุผลมีผู้ใช้บริการมากจนแออัด
ผู้ใช้บริการ สิทธิบัตรทอง รพ.มงกุฎวัฒนะ ตกใจ เมื่อโรงพยาบาลดังขอคืนสิทธิบัตรทองกับ สปสช. ด้วยเหตุผลมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการมากเกินไป แม้จะมีการสร้างตึกใหม่เพิ่ม แต่กว่าจะแล้วเสร็จก็ปี 2566 จึงต้องทำการขอคืนสิทธิของผู้ที่เคยลงทะเบียนกับโรงพยาบาลกึ่งหนึ่ง สปสช. จึงเตรียมย้ายให้ผู้ใช้สิทธิไปให้กทม.เป็นเจ้าภาพช่วยดูแลต่อ
สปสช. เผย เข้าใจ รพ.มงกุฎวัฒนะ ขอคืน สิทธิบัตรทอง เหตุผู้ป่วยล้น แจงย้ายให้กทม.ช่วยดูแล
แถลงการณ์กันให้วุ่นหลัง รพ.มงกุฎวัฒนะ ขอคืนสิทธิบัตรทอง กับสปสช. มีที่มาที่ไปอย่างไร อ่านเนื้อข่าวต่อได้ที่นี่
วันนี้ 6 ส.ค. 65 นายแพทย์ จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณี โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ขอคืนประชากรสิทธิบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ขึ้นทะเบียนปฐมภูมิโดยตรงกับโรงพยาบาลเป็นการเร่งด่วนเนื่องจากปัญหาความแออัด มีประชาชนมาใช้สิทธิ์และมีผู้ป่วยมากเกินพื้นที่ใช้สอยที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งตามกฎหมายถือเป็นการขอเลิกสัญญากับ สปสช. โดยสัญญาการบอกเลิกนี้จะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม และจะมีกระบวนการในการย้ายสิทธิประชาชนหลังจากมีการยกเลิกสัญญา
ในส่วนของประชากรสิทธิบัตรทองที่เคยขึ้นทะเบียนปฐมภูมิกับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะนั้น สปสช. จะต้องหาหน่วยบริการอื่นมารับช่วงดูแลเพื่อไม่ให้สิทธิในการรับบริการขาดตอน ประกอบกับ กทม. โดยผู้ว่าชัชชาติ มีนโยบายพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและเป็นเจ้าภาพระบบปฐมภูมิใน กทม สปสช.จึงจะได้หารือ กทม. ในการมอบหมายให้ศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัด เป็นเจ้าภาพรับดูแลผู้ใช้สิทธิกลุ่มนี้ต่อ
โดยประชาชนจะถูกขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิกับศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านโดยอัตโนมัติ ทำให้สามารถเข้ารับบริการสุขภาพได้ต่อเนื่องไม่ขาดตอน และหากไม่สะดวกไปรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ สปสช. เลือกให้ ก็สามารถย้ายหน่วยบริการปฐมภูมิในภายหลังได้เช่นกัน
ขณะเดียวกัน สปสช. ยังมีนโยบายยกระดับบัตรทองให้เข้ารับบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ดังนั้นในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ หากมีความจำเป็นหรือไม่สะดวกไปรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่เคยขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะก็ยังสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิอื่น หรือ คลินิกชุมชนอบอุ่น ที่อยู่ในเครือข่าย สปสช. ได้อีกด้วย นพ.จเด็จ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า
“หากผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้มีข้อสงสัยหรือต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม สามารถโทรมาที่ สายด่วน สปสช. 1330 ทางเฟสบุ๊คสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือไลน์ไอดี @nhso ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลหรือประสานงานแก้ปัญหาให้ท่านอย่างไม่ชักช้า”
และยังกล่าวอีกว่า “ในส่วนของข้อเรียกร้องของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ที่ต้องการให้ สปสช. เป็นตัวหลักในการประสานงานกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อขออนุมัติเพิ่มจำนวนเตียงจาก 440 เตียง เป็น 750 เตียง เพื่อให้สามารถรองรับคนไข้ส่งต่อมากขึ้นนั้น
สปสช.ยินดีเป็นตัวกลางประสานงานกับ สบส. ในประเด็นนี้ เพราะการเพิ่มจำนวนเตียงมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองมีโอกาสได้เข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน”
โดยเหตุการณ์ขอคืนสิทธิบัตรทองนี้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. 65 เมื่อ นายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ก ระบุว่า
“เนื่องจากผู้ใช้บริการโรงพยาบาลมีจำนวนมากจนเกิดความแออัด ถึงแม้จะมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่อีกมากกว่า 30,000 ตารางเมตร แต่จะเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2566 ดังนั้น รพ.มงกุฎวัฒนะ จะลดความแออัดของผู้ใช้บริการดังนี้
1. ส่งคืนผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ขึ้นทะเบียนปฐมภูมิกับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะทั้งหมด โดยจะส่งคืน สปสช.จำนวน 70,000 คน
2.ลดจำนวนรับการส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจากหน่วยต่างๆของ สปสช ลงกึ่งหนึ่ง จาก 300,000 คนคงเหลือ 150,000 คน
3.ลดจำนวนผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคมลงกึ่งหนึ่งจาก 120,000 คน คงเหลือ 60,000 คน
ทั้งนี้จะเริ่มดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล เป็นภาระแก่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป”
- สปสช. เริ่มเปิดให้ ผู้ป่วยโควิด-19 ใช้สิทธิ บัตรทอง รับยาจากร้านเครือข่ายได้
- กองทุนหลักประกันสุขภาพ สปสช คืออะไร ? ประโยชน์ที่ได้รับ 2565
- ปัญหาสิทธิบัตรทอง สปสช. เปิดแจ้งเรื่องผ่านแอปฯ ‘ทราฟฟี่ฟองดูว์’ เริ่มวันนี้