ข่าวข่าวธุรกิจเศรษฐกิจ

สินมั่นคง เผย ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ขาดทุน 2.9 หมื่นล้านบาท

บริษัท สินมั่นคง ประกันภัย ทำการเปิดเผยผลประกอบการ ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 โดยขาดทุนไป 2.9 หมื่นล้านบาท เร่งดำเนินการวางกรอบฟื้นฟูกิจการ

สินมั่นคง ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 – (24 พ.ค. 2565) บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือแจ้งต่อ ก.ล.ต. ส่งงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งแสดงผลกำไร(ขาดทุน)สุทธิ สำหรับงวด 3 เดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2565 และ 2564 จำนวน (29,421.37) ล้านบาท และ 173.23 ล้านบาท คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 16,794.48 ซึ่งการวิเคาระห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการดังนี้

1. รายได้รวมของบริษัทฯ ในไตรมาส 1 ปี 2565 เท่ากับ 2,472.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.32 ล้านบาท จากช่วงเวลาเดียวกัน ปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,452.74 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.79 เกิดจากสาเหตุหลักดังนี้

  • เบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้ในไตรมาสนี้เท่ากับ 2,410.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.21 ล้านบาท ผลมาจากการสำรองเบี้ยประกันภัยบวกกลับที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนจำนวน 566.02 ล้านบาท
  • รายได้และกำไรจากการลงทุนลดลง 17.54 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.64 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลที่ลดลง 51.68 ล้านบาท

2. ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 31,624.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29,388.06 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 1,313.81 จากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 2,236.85 ล้านบาท เกิดจากสาเหตุหลัก ดังนี้

  • สำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดในไตรมาส 1 ปี 2565 เท่ากับ 6,374.52 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 100.00 เป็นผลมาจากการสำรองเบี้ยประกันภัยไม่เพียงพอต่อค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 จึงต้องสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดเพิ่มเติม
  • ค่าสินไหมทดแทนในไตรมาส 1 ปี 2565 เท่ากับ 24,571.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,166.89 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,649.03 โดยแยกเป็นค่าสินไหมทดแทนประเภทอื่นๆ 1,311.03 ล้านบาท และค่าสินไหมทดแทนโควิดเท่ากับ 23,260.74 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในปี 2564

3. กำไรจากการรับประกันภัยในไตรมาส 1 ปี 2565 มีผลขาดทุนจำนวน 29,187.25 ล้านบาท เนื่องจากการรับประกันภัยโควิดประสบผลขาดทุนเป็น จำนวนเงินสูงสุดถึง 29,479.68 ล้านบาท ส่วนการรับประกันภัยประเภทอื่นๆ มีผลกำไรจำนวน 292.42 ล้านบาท

โดยสรุป สาเหตุหลักที่ทำให้ผลการดำเนินงานประสบผลขาดทุนสูงถึง 29,421.37 ล้านบาท มาจากจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งมีจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนโควิดเพียง 19.08 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ สินมั่นคงประกันภัย ยังแจ้งกรอบเวลาการฟื้นฟูกิจการดังนี้

ตามที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 และในวันที่ 18 พ.ค. 2565 ศาลฯ ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ จึงได้กำหนดกรอบระยะเวลาประมาณการเพื่อฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น และขั้นตอนกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาสินไหมโควิด และสร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจ ของบริษัทฯ ต่อไป

ทั้งนี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และกำหนดวันนัดพิจารณา ลูกหนี้อยู่ในสภาวะบังคับชั่วคราว หรือ สภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay)และศาลจัดส่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้บรรดาเจ้าหนี้ ประมาณเดือนมิ.ย. 2565 พร้อมนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ 15 ส.ค. 2565

พร้อมคาดว่าศาลพิจารณามีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน ประมาณเดือนต.ค. 2565 ประกาศคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนในหนังสือพิมพ์และราชกิจจานุเบกษา (หลังจากศาลมีคำสั่งตาม ข้อ 5 ประมาณ 1 เดือน) ประมาณเดือนพ.ย. 2565

ส่วนเจ้าหนี้ต้องดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลา 1 เดือนนับจากวันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ประมาณเดือนธ.ค. 2565 คาดว่าศาลล้มละลายพิจารณาคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ประมาณเดือนมิ.ย. 2566 และ ผู้บริหารแผนดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ก.ค. 2566 เป็นต้นไป

 

แหล่งที่มาของข่าว : ไทยโพสต์

สามารถติดตามข่าวธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวธุรกิจ

 

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button