ทำฟันประกันสังคม 2565 เบิกอะไรได้บ้าง มีสิทธิทำฟัน หมดเขตเมื่อไร ที่นี่มีคำตอบ
ทำฟันประกันสังคม 2565 เบิกอะไรได้บ้าง ผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 ต้องรู้ เพราะเป็นสิทธิทำฟัน ประโยชน์เฉพาะผู้ประกันตน ซึ่งการทำฟันประกันสังคมนั้น มีมากกว่าการถอนฟัน อุดฟัน หรือขูดหินปูน แต่จะสามารถทำทันตกรรมอะไรได้อีกบ้าง ไปดูพร้อม ๆ กันเลย
ทำฟันประกันสังคม 2565 ผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 เบิกอะไรได้บ้าง?
ทำฟันประกันสังคม ทำอะไรได้บ้าง ?
การทำฟันประกันสังคม สารถมารถทำได้ทั้ง ถอนฟัน / อุดฟัน / ขูดหินปูน / ผ่าฟันคุด
- วงเงินรวมไม่เกิน 900 บาทต่อปี ในกรณีที่ค่ารักษาสูงกว่า 900 บาท ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินส่วนเกินเอง
การทำฟันประกันสังคมแบบ ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน
- ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
- จำนวน 1-5 ซี่ วงเงินไม่เกิน 1,300 บาท เบิกได้ทุก 5 ปี
- มากกว่า 5 ซี่ วงเงินไม่เกิน 1,500 บาท เบิกได้ทุก 5 ปี
การทำฟันประกันสังคมแบบ ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปาก
- ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
- ฟันบนหรือล่าง (อย่างใดอย่างหนึ่ง) วงเงินไม่เกิน 2,400 บาท เบิกได้ทุก 5 ปี
- ฟันบนและล่าง (ทั้งคู่) วงเงินไม่เกิน 4,400 บาท เบิกได้ ทุก 5 ปี
สิทธิทำฟันเบิกประกันสังคม มีเงื่อนไขยังไง ใครใช้ได้บ้าง ?
สิทธิการทำฟันประกันสังคมจะมีให้เบิกเฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ มาตรา 39 เท่านั้น โดยจะต้องมีการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนรับบริการทำฟัน สำหรับผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 3 เดือนแล้ว แต่ได้ลาออกจากที่ทำงาน ก็ยังสามารถเข้ารับบริการทันตกรรมได้ เพราะสิทธิทำฟันประกันสังคมจะยังคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน นับจากวันที่ลาออก
นอกจากนี้ผู้ประกันตนยังสามาถใช้สิทธิได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกทันตกรรมทั่วไป หากเป็นสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการกรณีทันตกรรมและวงเงินค่าใช้จ่ายไม่เกินที่กำหนด ไม่ต้องสำรองจ่าย
เบิกค่าทำฟันประกันสังคม ทำยังไง ทำออนไลน์ได้หรือไม่ ?
ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าทำฟันได้ ในกรณีที่เข้ารับบริการทำฟันกับสถานพยาบาลที่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าไปก่อน หรือเป็นการทำฟันปลอม สามารถยื่นขอเบิกค่าทำฟันย้อนหลังได้ที่
- สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ ในวัน-เวลาราชการ
- สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทุกแห่งทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) ในวัน-เวลาราชการ
- ยื่นเอกสารผ่านทางไปรษณีย์ โดยส่งเอกสารไปตามที่อยู่ของสำนักงานประกันสังคมที่อยู่ใกล้บ้าน พร้อมจ่าหน้าซองว่า “ฝ่ายสิทธิประโยชน์”
เบิกค่าทำฟันประกันสังคม ใช้เอกสารอะไรบ้าง ?
หากต้องการเบิกค่าทำฟันประกันสังคม กรณีที่ต้องทำฟันกับคลินิกทันตกรรมที่ไม่ได้ร่วมโครงการไม่ต้องสำรองจ่าย ให้ผู้ประกันตนเก็บใบเสร็จรับเงินและขอใบรับรองแพทย์ และเตรียมเอกสารต่อไปนี้เพื่อไปยื่นกับสำนักงานประกันสังคมสาขาที่สะดวก
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16) ประกันสังคม
- เอกสารใบรับรองแพทย์
- เอกสารใบเสร็จรับเงินการทำฟัน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- เวชระเบียนของแพทย์ผู้รักษา (กรณีเบิกฟันปลอมฐานอะคริลิก)
กรณีขอรับเงินค่าทำฟันประกันสังคมทางธนาคาร ให้แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี 11 ธนาคาร ดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
หมายเหตุ : ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ยังไม่สามารถใช้ยื่นเบิกค่าทำฟันประกันสังคมได้
ทำฟันประกันสังคม ใช้ได้ถึงวันไหน ?
การทำฟันประกันสังคมในแต่ละปี สิทธิทันตกรรม 900 บาท จะปรากฏในข้อมูลของผู้ประกันตน ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของทุกปี แต่หากใครจำไม่ได้ว่าปีนั้นได้ใช้สิทธิไปหรือยัง ก็เข้าไปเช็กได้ด้วยตัวเองผ่านแอป SSO Connect Mobile และการทำฟันประกันสังคมสามารถเบิกได้ไม่จำกัดครั้งต่อปี จนกว่าจะครบวงเงิน 900 บาท และวงเงิน 900 บาทนี้ เป็นวงเงินที่ให้ใช้แบบปีต่อปี ไม่สามารถทบไปในปีถัดไปได้ จึงควรใช้ให้ครบวงเงินภายในปีนั้น ๆ อีกทั้งยังควรเบิกค่าทำฟันประกันสังคมภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้าใช้บริการทำฟัน โดยจะยึดวันที่ระบุในใบรับรองแพทย์เป็นหลัก เพราะหากเกิน 2 ปี จะหมดสิทธิยื่นเบิกประกันสังคมทันที
หากใครที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ก็อย่าลืมไปใช้สิทธิประโยชน์ในด้านทันตกรรมของตัวเอง ในสถานพยาบาลที่ใกล้บ้าน หรือสถานทันตกรรมที่เข้าร่วมประกันสังคมก่อนจะหมดสิทธิของปี 2565 กันนะ
- ขั้นตอน เปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม 2565 ทำผ่านออนไลน์ได้ง่าย ๆ ภายใน 3 นาที
- ลาคลอดได้กี่วัน ? หลังประกันสังคมปรับสิทธิให้คุณแม่ลูกจ้าง
- เงินเยียวยาประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 พื้นที่สีแดง 29 จังหวัด เข้าวันนี้เช็คด่วน!