ประกาศ ‘ปิดอ่าวไทย’ ประจำปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค.
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศถึงดำเนินมาตรการ ‘ปิดอ่าวไทย’ ประจำปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์ทะเลได้ทำการพักผ่อน และเติบโตหมุนเวียน
วันนี้ (11 ก.พ. 2565) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศ ‘ปิดอ่าวไทย’ ตามมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ประจำปี 2565 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. นี้ และกำหนดพื้นที่ควบคุมต่อเนื่อง
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ปี 2565 (ปิดอ่าวไทย) และร่วมประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พร้อมปล่อยขบวนเรือเจ้าหน้าที่เพื่อออกปฏิบัติหน้าที่ในช่วงประกาศใช้มาตรการดังกล่าว
โดยมีเรือตรวจประมงทะเลเข้าร่วมขบวนทั้งสิ้น 8 ลำ ณ บริเวณชายทะเลอ่าวประจวบคีรีขันธ์ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า จากผลการศึกษาวิจัยทางวิชาการของกรมประมงพบว่า ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี พื้นที่ทะเลอ่าวไทยบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ของสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด โดยเฉพาะปลาทู ได้อาศัยเป็นแหล่งวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อให้การใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ ให้มีความสมดุลกับศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ และมีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยได้กำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 14 มิถุนายน ของทุกปี ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และกำหนดพื้นที่ควบคุมต่อเนื่องจากมาตรการปิดอ่าวฯ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม ถึงวันที่ 14 มิถุนายน ของทุกปี บริเวณพื้นที่อ่าวประจวบฯ
“การจัดพิธีประกาศปิดอ่าวในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมง ประชาชน สมาคมประมง โรงเรียน หน่วยงานราชการในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชนประมงต้นแบบ และกลุ่มเครือข่ายอาสาเฝ้าระวังการทำการประมงที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของกรมประมง ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในท้องถิ่นของตนเอง
ซึ่งจากการประกาศใช้มาตรการในปีที่ผ่านมา พบว่า มีพ่อ – แม่พันธุ์ปลาทู มีความสมบูรณ์เพศและมีการแพร่กระจายของลูกปลาทูและสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นในพื้นที่ที่ประกาศใช้มาตรการ และในพื้นที่อ่าวไทยบริเวณบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเปรียบเทียบองค์ประกอบของลูกปลาทูและสัตว์น้ำชนิดอื่นพบว่า ระยะเวลาและพื้นที่บังคับใช้มาตรการ สอดคล้องกับการเลี้ยงตัวของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปลาเริ่มเคลื่อนย้ายเข้าสู่อ่าวไทยรูปตัว ก เป็นแหล่งเลี้ยงตัวอ่อนที่สำคัญ”
ด้าน นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการดังกล่าว เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2496 จนถึงปัจจุบัน โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาเป็นระยะ ๆ โดยปัจจุบันเป็นมาตรการที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 70 และได้กำหนดระยะเวลาและพื้นที่ เป็น 2 ระยะ ได้แก่
– ระยะที่ 1 พื้นที่ทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่ในทะเล 27,000 ตารางกิโลเมตร ระยะเวลาห้ามทำการประมง ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปี
– ระยะที่ 2 พื้นที่อ่าวไทยตามระยะที่ 1 ปรับลดลงมาให้คงห้ามทำการประมงในระยะใกล้ฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งสัตว์น้ำวัยอ่อนอพยพไปยังพื้นที่เลี้ยงตัวอ่อนในอ่าวไทยตอนใน ครอบคลุมพื้นที่ 5,300 ตารางกิโลเมตร และกำหนดห้ามทำการประมงเพิ่มเติมในพื้นที่ตั้งแต่เขาม่องไล่ ไปทางทิศเหนือ จรดอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ 2,900 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม ถึงวันที่ 14 มิถุนายน ของทุกปี ในพื้นที่และห้วงเวลาที่กำหนดห้ามมิให้ทำการประมง เว้นแต่เป็นการใช้เครื่องมือบางชนิด ตามที่ระบุไว้ในประกาศเท่านั้น ที่จะใช้ทำการประมงได้
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหนังสือรับรองมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน จำนวน 8 ราย มอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน และมอบพันธุ์กุ้งก้ามกราม จำนวน 700,000 ตัว ให้แก่ผู้นำชุมชน นำไปปล่อยเพื่อเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำธรรมชาติ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ณ แม่น้ำปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนร่วมกันปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง จำนวน 220,000 ตัว ประกอบด้วย กุ้งกุลาดำ 100,000 ตัว กุ้งแชบ๊วย 100,000 ตัว และปลากะพงขาว 20,000 ตัว ลงในอ่าวประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตลงในแหล่งน้ำธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งด้วย
จากนั้นได้เปิดโครงการกระจายสินค้าประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภค (Fisherman Market) ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้าน และชาวประมงในพื้นที่จังหวัดชายทะเลทั้ง 23 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการ “กระจายสินค้าประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภค”
โดยเปิดช่องทางการตลาดสำหรับกระจายผลผลิต จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำเพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ รวมถึงสนับสนุนพัฒนาทักษะการขาย การแปรรูป และการบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้เกิดความมั่นคงในระยะยาวต่อไป โดยในส่วนกลาง กรมประมงได้เปิดตลาด Fisherman Market ในทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ เพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านได้นำสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ คุณภาพดี มีมาตรฐาน มาวางจำหน่ายให้ผู้บริโภคได้ร่วมอุดหนุนในราคาสุดพิเศษ ซึ่งมีสินค้ามาวางจำหน่ายมากมายหลายรายการ หมุนเวียนกันไปแต่ละสัปดาห์ด้วย
ทั้งนี้ สำหรับตลาด Fisherman Market ภายในงาน มีเกษตรกร และพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านนำสินค้า ผลิตภัณฑ์ประมงมาจำหน่าย กว่า 30 ร้าน อาทิ ร้าน Seafood สด ๆ เช่น หอยนางรม ปูม้า หอยแมลงภู่ ปลาทะเล ปลาทราย ฯลฯ จากกลุ่มประมงพื้นบ้าน และผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น หมึกแห้ง ปลาอินทรีย์แดดเดียว ปลาเค็ม กะปิ น้ำพริกปูม้า หอยแมลงภูดอง ปลากะตักทอดกรอบ กุ้งหวาน หมึกกะตอย กุ้งแห้ง ห่อหมกทะเล เป็นต้น
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ