ศูนย์จีโนม เผย โควิด ใกล้ ‘จบ’ แล้ว หลังอัตราผู้เสียชีวิตลด
ศูนย์จีโนม เผยการแพร่ระบาดของโรค โควิด ใกล้ จบ แล้ว และจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หลังจากที่อัตราผู้เสียชีวิตและป่วยลดลง
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเฟซบุ๊ก เปิดเผยถึงข่าวดีถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้อาจจะใกล้ถึง “ตอนจบ” แล้ว และอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น
โดยข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “อันหมายถึงใน กทม. หากไม่นับในเรือนจำ โอมิครอนน่าจะเข้ามาแทนที่เดลตา เกือบหมดแล้ว ‘Twindemic’ หรือการติดเชื้อสองสายพันธุ์ระหว่างโอมิครอนและเดลตาไปพร้อมกันในระยะเวลาสั้นๆ ได้จบลงแล้ว ไม่นานโอมิครอนคงจะกระจายไปทั่วประเทศ ไม่ช้าคงเป็นตามที่ ดร.แอนโทนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญในคณะทำงานเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิดของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เตือนว่า “ในที่สุดแทบทุกคนจะติดเชื้อไวรัสโอมิครอน” จากนั้นทั้งภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและจากการติดเชื้อตามธรรมชาติจะพุ่งขึ้นสูง ลดความรุนแรงของโรคโควิด และลดอัตราการเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว เห็นปรากฏการณ์นี้ได้อย่างชัดเจนจากข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากโอมิครอน”
ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแอฟริกาใต้ลดลงจนเข้าสู่สภาวะปกติ ในขณะที่มีผู้เสียชีวิตไม่มาก มีประชากรติดเชื้อไวรัสจากธรรมชาติเป็นจำนวนมาก
ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอังกฤษเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มีผู้เสียชีวิตไม่มาก อังกฤษใช้วัคซีนไวรัสเป็นพาหะ และเข็มกระตุ้นเป็นวัคซีนสารพันธุกรรม (mRNA) ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าใกล้ถึงจุดสูงสุดใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ในขณะที่ผู้เสียชีวิตมีไม่มาก อเมริกาใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนนำสองเข็มแรก และใช้เป็นเข็มกระตุ้นด้วย
ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย รวมทั้งอิหร่าน ที่มีการติดเชื้อจากธรรมชาติในอัตราสูงนำมาก่อน ก่อนจะมารับวัคซีนเชื้อตาย และสลับมารับวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ และ/หรือวัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้น พบว่าได้ผลดีมาก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโอมิครอนและผู้เสียชีวิตต่ำ
ส่วนประเทศไทย มีการติดเชื้อจากธรรมชาติไม่มาก และได้รับวัคซีนเชื้อตาย สลับมารับวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ และ/หรือวัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้น ได้ผลดีเช่นกัน แม้จะเห็นผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจากโอมิครอน แต่ผู้เสียชีวิตลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ไวรัสโคโรนา 2019 คงจะจบเกม (Endgame) กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เหมือนไข้หวัดใหญ่ซึ่งมาตามฤดูกาล โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณร้อยละ 0.1”