‘พาณิชย์’ ย้ำ ชุดตรวจโควิด-19 ATK เป็นสินค้าควบคุม โก่งราคาผิด กม.
กระทรวงพาณิชย์ เน้นย้ำว่า ชุดตรวจโควิด-19 ATK ถือว่าเป็นสินค้าควบคุม หากพบว่ามีการโก่งราคาถือว่าผิดกฎหมาย รับโทษปรับ 1.4 แสนบาท และจำคุก 7 ปี
(10 ม.ค. 2565) นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลราคาและสถานการณ์จำหน่าย ชุดตรวจโควิด-19 แบบหาแอนติเจนด้วยตนเอง (ATK) เพราะมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ภายหลังความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ว่า กระทรวงพาณิชย์
โดยกรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้ติดตามสถานการณ์ราคาและการจำหน่าย ชุดตรวจโควิด-19 ATK อย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ขายได้ในท้องตลาด ทั้งการขายแบบออฟ ไลน์ หรือร้านขายยาทั่วไป และการขายผ่านออนไลน์
ถ้าประชาชนพบเห็นผู้ค้ารายใด ขายราคาแพงเกินสมควร หรือค้ากำไรเกินควร สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ หากพบการกระทำผิดจริง จะมีความผิดตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากรายงานของนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน แจ้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่าจากการติดตามราคาและสถานการณ์การขาย ATK พบว่า ในช่วงปลายปีต่อต้นปี บางยี่ห้อราคาสูงขึ้นเล็กน้อย เพราะความต้องการใช้ที่สูงขึ้น และสินค้าอยู่ระหว่างการสั่งซื้อ และจัดส่ง ทำให้สินค้ามีน้อย
แต่ขณะนี้ราคาลดลงมาอยู่ในระดับปกติแล้ว โดยทางออนไลน์ ราคามีตั้งแต่ชุดละ 38 บาท 45 บาท 73 บาท หรือกว่า 100 บาท ส่วนร้านขายยา ราคาหลากหลายเช่นกัน ตั้งแต่ชุดละ 40 บาท 95 บาท หรือกว่า 100 บาท คาดว่าราคาจะทรงตัวในระดับนี้ หรืออาจจะลดลงได้อีก หากมีการนำเข้ามาขายในตลาดมากขึ้น
ทั้งนี้ ชุดตรวจ ATK ถือเป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) และยังใช้มาตรการแจ้งข้อมูลและจัดทำบัญชีคุมสินค้าชุดตรวจ ATK โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง ต้องแจ้งข้อมูลสินค้าต่อกรมการค้าภายใน ทั้งชื่อผลิตภัณฑ์ทางการค้า เลขรหัสสินค้า ล็อตที่ผลิต ขนาดบรรจุ กำลังการผลิต แหล่งนำเข้า ปริมาณการผลิต-นำเข้า-จำหน่าย ต้นทุน ค่าใช้จ่าย ราคาจำหน่าย ชื่อและที่อยู่ผู้ซื้อ และจัดทำบัญชีคุมสินค้า
เพื่อให้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของราคา ปริมาณ และป้องกันการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค หากไม่แจ้งจะมีความผิดตามกฎหมาย และหากขายราคาสูงเกินสมควร หรือค้ากำไรเกินควร จะมีความผิดตามมาตรา 29 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ
สำหรับสถานการณ์ชุดตรวจ ATK Home use รายงานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีจำนวนผู้ผลิตและผู้นำเข้าประเภทได้รับอนุญาต อย. ณ วันที่ 5 มกราคม 2565 จำนวน 140 ราย 170 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ผู้ผลิต 2 ราย 2 ผลิตภัณฑ์ ผู้นำเข้า 138 ราย 168 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจำหน่ายแล้ว 62 ราย 63 ผลิตภัณฑ์
โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 หรือเชื้อก่อโรค COVID-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits ) ฉบับที่ 2 พ.ศ.2564 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2564 ทำให้สามารถจำหน่ายได้ทุกช่องทาง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองให้มากขึ้น และตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.- 7 ม.ค.2565 สปสช.หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของรัฐบาลได้แจกชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชิ้น
โดยรายงานระบุว่าได้แจกชุดตรวจ ATK ทั่วประเทศไปแล้ว ปริมาณ 5,119,418 ชุด จำนวน 2,184,086 คน ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง และ อสม. ใกล้บ้าน ส่วน GPO หรือ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำหน่ายชุดตรวจ ATK Home use ภายใต้โครงการ ATK คุณภาพเพื่อสังคมไทยในราคาชุดละ 40 บาท โดยเปิดช่องทางการจำหน่ายออน ไลน์เพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ www.gpoplanet.com ในราคากล่องละ 800 บาท (20 ชิ้นต่อกล่อง) เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ 9 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา
เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายให้กับประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงชุดตรวจ ATK ได้มากขึ้น ทั้งนี้ รายงานระบุว่าในระยะต่อไปทางองค์การเภสัชกรรม จะกระจายชุดตรวจ ATK ผ่านตัวแทนจำหน่ายของ GPO ที่มีอยู่ทั่วประเทศอีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้เป็นภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข
ส่วนสถานการณ์ราคานั้น รายงานกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าปัจจุบันราคามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าจาก อย. เพิ่มขึ้น และมีการนำเข้ามาจำนวนหลายราย ทำให้สินค้าในท้องตลาดมีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับโครงการต่างๆ ของรัฐ เช่น สปสช. แจก ATK ฟรี หรือโครงการ ATK คุณภาพ เพื่อสังคมไทย ของ GPO ส่งผลให้ประชาชนชะลอการซื้อ
โดยปัจจุบันราคาจำหน่าย (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ม.ค.65) ร้านขายยา ราคาอยู่ที่ 40-350 บาท/ชิ้น ส่วนช่องทางออนไลน์ ราคาอยู่ที่ 38-390 บาท/ชิ้น
ในส่วนของมาตรการทางกฎหมาย มีการกำหนดให้เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งรวมถึง ชุดตรวจ ATK และน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ โดยประกาศ กกร. ฉบับที่ 63 พ.ศ.2564 ลงวันที่ 18 ส.ค.64 กำหนดให้ ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าเพื่อจำหน่าย/ผู้ค้าส่ง แจ้งข้อมูลดังต่อไปนี้ คือ
1.รายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ กำลังการผลิต ปริมาณการผลิต/นำเข้า ต้นทุนการผลิต/นำเข้า ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อ โดยแจ้งภายใน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ประกาศใช้บังคับ (25 ส.ค. 64) และแจ้งครั้งต่อไปทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนของทุกเดือน ทั้งนี้แบบแจ้งเป็นไปตามประกาศ สกกร. ฉบับที่ 36 พ.ศ.2564 ลงวันที่ 19 ส.ค. 64
2.จัดทำบัญชีคุมสินค้าเป็นรายวัน นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้จำหน่ายแสดงราคาจำหน่ายปลีกไว้ที่สินค้า หรือบริเวณใกล้เคียงสินค้านั้นด้วย
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ