ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด ล่าสุดหนึ่งในนักวิจัย ระบุ ขอทบทวนข้อมูลใหม่ ไม่ใช่การถอน
ฟ้าทะลายโจร รักษาโควิด-19 ล่าสุด หนึ่งในผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ระบุ เป็นการขอทบทวนข้อมูลใหม่ ไม่ใช่การถอน
จากกรณีที่ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว โพสต์เฟซบุ๊ก นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ระบุ ความคืบหน้าเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด 19 จำเป็นต้องมีการวิจัยซ้ำด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น กรณีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ทีมผู้วิจัยชาวไทย ซึ่งได้ทำวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ที่สรุปผลได้ว่าฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโควิด แล้วมีผลดีลดการเกิดปอดอักเสบได้ ทำการขอถอนนิพนธ์ต้นฉบับของตนเองที่รอตีพิมพ์กลับคืนจากคลังวารสารรอตีพิมพ์ (medRxiv)
ด้วยเหตุผลว่ามีความผิดพลาดในการคำนวณค่านัยสำคัญของความแตกต่าง (p-value) จึงของดการเผยแพร่ไว้ก่อนเพื่อป้องกันการนำผลวิจัยไปใช้ด้วยสำคัญผิด
ในงานวิจัยนั้นรายงานว่า
กลุ่มผู้ใช้ฟ้าทะลายโจร 29 คน เป็นปอดอักเสบ 0 คน กลุ่มที่ใช้ยาหลอก 28 เป็นปอดอักเสบ 3 คน คำนวณนัยสำคัญของความแตกต่างได้ p=<0.039 ซึ่งเป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ (ตัดกันที่ p=<0.05) แต่หากคำนวณอย่างถูกต้องแท้จริงแล้วค่านัยสำคัญ คือ p=0.1 คือจะต้องเปลี่ยนคำสรุปผลวิจัยเป็น การใช้ฟ้าทะลายโจรลดปอดบวมได้ไม่แตกต่างจากใช้ยาหลอก
ระหว่างที่งานวิจัยใหม่นี้ยังไม่ออกมา ชาวไทยต้องอาศัยข้อสรุปใหม่ล่าสุดที่ว่า ฟ้าทะลายโจรลดปอดบวมในคนไข้โควิด 19 ได้ไม่แตกต่างจากยาหลอก ไปพลาง ๆ ก่อน
และที่ตนเคยบอกว่า หลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิดตอนนี้มีพอแล้วนั้น ก็ต้องถอนคำพูด และขอใช้คำพูดใหม่ว่า
“หลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด ตอนนี้ยังมีไม่พอ ต้องรอการวิจัยซ้ำด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น”
ก่อนที่วันถัดมา นพ.สันต์ ออกมาชี้แจงข้อมูลดังกล่าวอีกครั้งว่า มีการนำบทความไปตีพิมพ์บางส่วน
ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรสักแอะเดียวที่จะบ่งชี้ว่าการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิด19ไม่ได้ผล ฟังให้ดีนะ “ยังไม่มั่นใจว่ามันได้ผลจริงหรือเปล่า” ไม่เหมือนกับ “ใช้แล้วไม่ได้ผล”
ขณะเดียกันข้อมูลจาก Thai PBS ระบุถึง กรณีเรื่องการถอนงานวิจัย ประสิทธิภาพฟ้าทะลายโจรรักษา COVID-19 ระหว่างรอการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ เบื้องต้นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ ระบุว่า อยู่ระหว่างการทบทวนข้อมูลเพื่อความถูกต้อง
วันที่ 8 ส.ค.64 นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ กรรมการแพทยสภา ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Passakorn Wanchaijiraboon ระบุว่า “1 ใน 4 paper ฟ้าทะลายโจร ขอถอน โดยผู้แต่งขอถอนออกจากการตีพิมพ์เนื่องจากการ error ของการวิเคราะห์ทางสถิติ ทำให้สรุปใหม่ว่า ไม่ต่างจากยาหลอก”
เพื่อไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ในแนวทางการรักษาผู้แต่งจึงขอถอน การตีพิมพ์
https://www.medrxiv.org/con…/10.1101/2021.07.08.21259912v2
CPG รักษา COVID 4-8-64 ที่มี citation ของ paper ที่ถอน
https://covid19.dms.go.th/…/25640804171629PM_CPG_COVID…
นอกจากนี้สำนักข่าวไทยพีบีเอส ยังได้สอบถามไปยังหนึ่งในผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ เบื้องต้นให้ข้อมูลว่า เป็นการขอทบทวนข้อมูลใหม่หรือ Revise ซึ่งไม่ใช่การถอน หลังมีผู้เชี่ยวชาญท้วงติงเรื่องความถูกต้องของผลการศึกษา
ทั้งนี้ หลังแก้ไขเรียบร้อยแล้ว จะส่งเข้าไปใหม่ ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก จะมีการแถลงรายละเอียดอีกครั้งเร็ว ๆ นี้
เบื้องต้น งานวิจัยนี้ยังอยู่ระหว่างรอการตีพิมพ์ ยังไม่ได้มีการเผยแพร่ในวารสารการแพทย์
อ้างอิงข้อมูล Kapook.com, นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์, Thai PBS, Passakorn Wanchaijiraboon
- ระวัง!! อย. เผยรายชื่อ 6 ผลิตภัณฑ์ ฟ้าทะลายโจรปลอม
- อย. จัดการโรงงานผลิต ฟ้าทะลายโจรปลอม ณ จ.นครปฐม
- รพ.สนามธรรมศาสตร์ เผย ปัญหาใหญ่ขาดแคลน ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร