มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ ‘วิถีถิ่น วิถีไทย’ ช่วยศิลปินพื้นบ้านฝ่าวิกฤติโควิด
วธ. จัดมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ”วิถีถิ่น วิถีไทย” 4 ภูมิภาค ช่วงมี.ค.-พ.ค.นี้ ช่วยเหลือศิลปินพื้นบ้านและเครือข่ายวัฒนธรรมได้รับผลกระทบโควิด-19
ศิลปินพื้นบ้าน โควิด – วันที่ 1 เมษายน 2564 ที่สนามวัดพระราม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” และงาน “มหกรรมอาหารพื้นบ้าน สืบสานตำนานวิถีถิ่นอยุธยา” พร้อมเยี่ยมชมบูธจัดแสดงสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย(CPOT) และสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชนคุณธรรมฯในจังหวัดต่าง ๆ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัฒนธรรมจังหวัด ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก 25 จังหวัด ศิลปินพื้นบ้านและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมสนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้านให้มีพื้นที่ในการนำเสนอคุณค่าของงานศิลปวัฒนธรรม สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งเพิ่มบทบาทของหน่วยงานทางวัฒนธรรมในพื้นที่ในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติและของท้องถิ่น ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง
รวมถึงเสริมฐานรากวัฒนธรรมให้เกิดความเข้มแข็ง และมุ่งสร้างขวัญ กำลังใจ ให้แก่ศิลปินพื้นบ้าน ผู้ประกอบการด้านศิลปวัฒนธรรม และเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ตามนโยบายรัฐบาล
โดยการเปิดพื้นที่ให้แก่ศิลปินพื้นบ้าน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและสินค้าทางวัฒนธรรมจากชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวรทั่วประเทศ ขณะเดียวกันได้มีการจัดงาน “มหกรรมอาหารพื้นบ้าน สืบสานตำนานวิถีถิ่นอยุธยา” ซึ่งอาหารเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น และวิถีชีวิตของความเป็นไทย เพื่ออนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า โครงการมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ”วิถีถิ่น วิถีไทย”จัดขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคโดยเริ่มต้นจัดกิจกรรมที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 23-29 มีนาคมที่ผ่านมาที่จ.นครราชสีมา ภาคกลางและภาคตะวันออกที่จ.พระนครศรีอยุธยา จัดงานวันที่ 1-4 เมษายนนี้ ณ สนามวัดพระราม
มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น
- การแสดงพื้นบ้านร่วมสมัย ชุดผีพุ่งใต้อำเภอหัวหิน คณะรักษ์ศิลป์ไทย จ.ประจวบคีรีขันธ์
- หนังตะลุง คณะศรราม ศ.สาคร จ.ประจวบคีรีขันธ์
- การแสดงชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ไทยดำรำแคน จ.ราชบุรี
- หนังใหญ่คณะหนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี
- ละครชาตรี คณะเบ็ญจา ศิษย์ฉลองศรี จ.เพชรบุรี
- ลิเก มหกรรมลิเกกรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา
- งิ้วรามเกียรติ์ เวอร์ชั่นจีน ลำตัดและเพลงพื้นบ้าน คณะหวังเต๊ะ จ.นครปฐม
- โขนสด คณะอำนวยพร จ.สิงห์บุรี
- หนังใหญ่ คณะหนังใหญ่วัดบ้านดอน จ.ระยอง
ภาคใต้ที่จ.นครศรีธรรมราชจัดงานวันที่ 7-9 พฤษภาคมนี้ ณ สนามหน้าเมือง อ.เมืองนครศรีธรรมราช มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น
- การแสดงโนรา หนังตะลุง ลิเกฮูลู เพลงบอกและลิเกป่า
ภาคเหนือที่จ.เชียงราย จัดงานวันที่ 10-14 พฤษภาคมนี้ ณ สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ 75 พรรษา เทศบาลนครเชียงราย มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น
- การแสดงขับซอล้านนา สะล้อ ซอ ซึง
ทั้งนี้ แต่ละพื้นที่ที่จัดงานมีบูธจำหน่ายสินค้า CPOTและสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชนคุณธรรมฯในจังหวัดต่างๆด้วย ขณะที่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯคาดว่าจะจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันในส่วนของงาน “มหกรรมอาหารพื้นบ้าน สืบสานตำนานวิถีถิ่นอยุธยา” จัดขึ้นวันที่ 1-4 เมษายน 2564 มีกิจกรรม ได้แก่ การสาธิตและจำหน่ายอาหารพื้นบ้านกว่า 50 ร้าน การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การแสดงชุด สิบศิลป์อโยธยา โรงเรียนอยุธยานุสรณ์ การแสดงชุดระบำอยุธยาและระบำทวารวดี การแสดงจากอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติและศิลปินนักร้อง อาร์ม กรกันต์ สุทธิโกเศศ การแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุด ยกรบ การแสดงลิเก คณะจีรศักดิ์ พรหมช่วย จ.ปราจีนบุรี การแสดงเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว การแสดงร้องเพลงลูกทุ่ง คณะลูกทุ่งชุมชนคนทุ่งมหาเจริญ จ.สระแก้ว การประกวดสำรับอาหารคาว หวาน หัวข้อฃ“วัฒนธรรมอาหารสำรับอยุธยา” การเสวนา หัวข้อ“วัฒนธรรมอาหารวิถีอยุธยา” และการจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม วธ.ได้กำชับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกแห่งที่เป็นพื้นที่จัดงานให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765
ที่มา: Thaigov
- ครม. เคาะเสนอ ‘ต้มยำกุ้ง’ ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกวัฒนธรรม ยูเนสโก
- เช็คล่าสุด 10 จังหวัด ยังไม่มีคนติดโควิด-19 จังหวัดไหนบ้าง
- ศบค. กังวลหลังเจอผู้ป่วย ‘โควิด’ สองรายติดจาก ‘สถานบันเทิง’
- โควิดไทย 2/4/64 พบผู้ป่วยเพิ่ม 58 ราย