7 ธ.ค. วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี
7 ธ.ค. วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
พลโทหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประสูติ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521
เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว – พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
เมื่อ วันที่ 5 พ.ค. 62 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระนาม สถาปนา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี”
ต่อมาวันที่ 28 ก.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
พระราชกรณียกิจ
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เริ่มต้นจากการดำเนิน โครงการอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ซึ่งมีขึ้นในขณะที่มีอุทกภัยครั้งร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2538 และมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก จนภาคราชการและองค์กรการกุศลที่มีอยู่มิอาจให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง จนเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันระหว่างประชาชนอันเกิดจากความเครียดอันเนื่องมาจากการป้องกันน้ำให้ท่วมในวงจำกัด ผู้ที่เดือนร้อนจึงรู้สึกว่าขาดที่พึ่ง ขาดความเห็นอกเห็นใจ ต้องได้รับความเดือดร้อนเฉพาะชาวพื้นที่ของตนเอง ขณะที่พื้นที่ติดกันได้รับความสะดวกสบายอย่างเป็นปกติ
วันที่ 29 ตุลาคม เป็นวันที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงออกปฏิบัติภารกิจในโครงการฯ เป็นครั้งแรก โดยเสด็จออกรับน้ำใจจากผู้ไม่ประสบอุทกภัยที่สถานีบริการน้ำมัน ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย ได้เสด็จพระดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 34 เขตบางกอกน้อย ซอยจรัญสนิทวงศ์ 82, 84 และ 86 เขตบางพลัด
การออกปฏิบัติพระกรณียกิจในครั้งนี้ส่งผลให้เหตุการณ์สงบลง จากนั้นมาโครงการฯ ก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิที่ผู้บริจาคสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 และได้พัฒนาการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
นอกจากนี้ ในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดให้ รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร เป็นผู้แทนพระองค์นำถุงยังชีพ 3,000 ถุง ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ
โครงการกำลังใจ ในพระดำริ
ทรงก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2544 เมื่อครั้งยังทรงเป็นนักศึกษากฎหมาย โดยครั้งแรก เสด็จเยี่ยมผู้ต้องขังหญิง ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ด้วยความสนพระทัยในสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง
โครงการนี้ได้ขยายความช่วยเหลือไปยังเด็กที่ติดท้องแม่ก่อนเข้าจำคุก รวมทั้งผู้ต้องขังหญิงสูงอายุ และเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงได้กระจายไปทั่วโลก ทรงมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอและยกร่างข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำต่อสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ภายใต้ชื่อ “Enhancing Life for Female Inmates: ELFI”
มูลนิธิ ณภาฯ ในพระดำริ
เป็นมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นด้วยพระประสงค์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 โดยประทานพระกรุณารับเป็นองค์ประธานมูลนิธิ เพื่อดำเนินกิจการตามพระดำริด้านสาธารณกุศลในการให้โอกาส การเป็นตัวกลางในการแสวงหาโอกาส และการพัฒนาชีวิตแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอดีตผู้ต้องขังและผู้ต้องขัง ตลอดจนกระตุ้นเตือนให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการให้โอกาส มูลนิธิ ณภาฯ จึงได้ดำเนินการตามพระดำริดังกล่าว เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
ผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิ ณภาฯ ในปัจจุบัน ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุปโภคตรา “จัน” และ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบริโภคตรา “ธรา” โดยมูลนิธิ ณภาฯ มีหน้าที่เป็นตัวกลางในการเผยแพร่และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อนำมาเป็นทุนในการสนับสนุนงานของมูลนิธิต่อไป
พระอิสริยยศ
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (7 ธันวาคม พ.ศ. 2521 — 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 — 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562)
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 — ปัจจุบัน)
เครื่องราชอิสริยยศราชูปโภค
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชูปโภคสำหรับสมเด็จเจ้าฟ้า ซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีรายการดังต่อนี้
- พานพระศรี (พานใส่หมากพลู) ทองคำลงยา เครื่องพร้อม
- พระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก) ทองคำลงยา
- หีบพระศรีทองคำลงยา พร้อมพานรอง
- พระคนโททองคำลงยา พร้อมพานรอง
- พานเครื่องพระสำอาง พร้อมพระสางวงเดือนกับพระสางเสนียดสอดในซองเยียรบับ และพระกรัณฑ์ทองคำลงยาสำหรับบรรจุเครื่องพระสำอาง
- ราวพระภูษาซับพระพักตร์ทองคำลงยารูปพญานาค 2 ตน ขนดหางพันเกลียวเป็นเสาราว ผินเศียรไปทางซ้ายและขวาเป็นราวพาด 2 กิ่ง พร้อมซับพระพักตร์จีบริ้วพาดบนราว 2 องค์
- พระฉายกรอบทองคำลงยาทำเป็นรูปพญานาคขนดพันกันโดยรอบบานพระฉาย ด้านบนเป็นรูปพระมหามงกุฎเปล่งรัศมี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
- พ.ศ. 2562 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายใน)
- พ.ศ. 2562 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายใน)
- พ.ศ. 2534 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายใน
- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2539 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.
- พ.ศ. 2538 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)
- พ.ศ. 2527 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)
- พ.ศ. 2562 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ ๑ (ว.ป.ร.๑)