จัสติน ทรูโด นายกแคนาดา ต่อสายตรงถึงบิ๊กตู่ เสียใจมาประชุมอาเซียนไม่ได้
จัสติน ทรูโด นายกแคนาดา ต่อสายตรงถึงบิ๊กตู่ เสียใจมาประชุมอาเซียนไม่ได้
วันที่ 31 ต.ค. ข่าวทำเนียบรัฐบาล รายงานเนื้อหาการโทรศัพท์ระหว่าง นายจัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ความว่า
เวลา 08.30 น. ตามเวลา ณ ประเทศไทย นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้โทรศัพท์ถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี โดยพลตรี อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ได้สรุปสาระสำคัญของการสนทนาทางโทรศัพท์ ดังนี้
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวทักทาย นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา พร้อมกับแสดงความยินดีในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีแคนาดาชนะการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา พร้อมขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีแคนาดาได้ให้ความสนใจและความสำคัญกับอาเซียน และโทรศัพท์มาสนทนาด้วยตนเองในวันนี้
นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวว่ารู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถเดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ได้ เนื่องจากมีภารกิจสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสต้อนรับนายกรัฐมนตรีแคนาดา แต่เข้าใจถึงภารกิจของนายกรัฐมนตรีแคนาดาในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมแสดงความชื่นชมเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยที่ได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเป็นอย่างดี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเพิ่งได้พบหารือกับเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เพื่ออำลาในโอกาสพ้นวาระ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (29 ต.ค. 2562)
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลแคนาดาอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย – แคนาดาทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค โดยเฉพาะความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดา ซึ่งนายกรัฐมนตรีแคนาดาเองได้ยืนยันที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจและการค้าการลงทุน พร้อมกับฝากนายกรัฐมนตรีทักทายผู้นำจากประเทศต่างๆ ที่จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2562 ที่จะถึงนี้
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง ทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทย-แคนาดาในอนาคต โดยประสงค์ให้แคนาดาพิจารณาความร่วมมือในรูปแบบ Thailand +1 ตลอดจนความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคมากขึ้น เช่น การเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) และโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดยผู้นำทั้งสองต่างหวังที่จะได้พบและหารือกันในโอกาสต่อไป