อ.เจษฎา ไขปริศนา ฝนราชการ คืออะไร ทำไมฝนชอบตก เวลาเลิกงาน

ไขปริศนา ฝนราชการ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทำให้ฝนชอบตกช่วงเย็นในฤดูฝน พร้อมให้ความรู้การก่อตัวของเมฆและปัจจัยสำคัญ
(วันที่ 2 กรกฎาคม 2568) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก จากกรณีนักเรียนจากหลายโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรม พิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามของลูกเสือ เนื่องในวันคล้าย วันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ซึ่ง ณ ขนะนั้น เป็นช่วงการเดินสวนสนาม ของบรรดาเหล่าลูกเสือแต่ละประจำจังหวัด พร้อมกับสายฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง จนทำให้นักเรียนหลายคนต้องยืนตากฝน กลางสนามกีฬาศุภชลาศัย
ทำให้มีนักเรียนบางคนเกิดอาการไม่สบาย เป็นลม โดย อ.เจษฎา ได้ร้องขอให้พิจารณาทบทวนการจัดงานในปีหน้า ๆ ต่อไป โดยให้จัดในอาคารในร่มแทน นอกจากนี้ อ.เจษฎา ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ ฝนราชการ ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เรื่อง ฝนราชการ นี้มีข้อมูลที่เคยอธิบายไว้โดยผู้เชี่ยวชาญ ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ ที่ในฤดูฝนของประเทศไทยเรา มีความเหมาะสมของลมฟ้าอากาศ จนทำให้ฝนมักจะตกตอนช่วงเย็นพอดี ไม่ได้เป็นเหตุบังเอิญ
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ผู้ก่อตั้งเพจ ชมรมคนรักมวลเมฆ และเจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง รู้ทัน ฝนฟ้า อากาศ อธิบายว่า ในเวลากลางวัน พื้นดินได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทำให้อากาศผิวพื้นร้อน และลอยตัวขึ้น เมื่ออากาศลอยตัวสูงขึ้น ก็จะเย็นตัวลงตามกฎ ยิ่งสูงยิ่งหนาว หากอากาศเย็นลง จนกระทั่งถึงอุณหภูมิที่เรียกว่า จุดน้ำค้าง ก็จะทำให้ไอน้ำกลายเป็นหยดน้ำเล็ก ๆ จำนวนมาก ถ้ามองภาพรวมก็คือ เมฆ นั่นเอง

ถ้าหยดน้ำในเมฆ เติบโตมีขนาดใหญ่มากขึ้น จนถึงจุดหนึ่งซึ่งหนักเกินไป จนกระแสลมพยุงเอาไว้ไม่ไหว ก็จะตกลงมาเป็นฝน เมฆฝน จะเป็นเมฆก้อนใหญ่ที่เกิดจากการสะสมของเมฆก้อนเล็ก ๆ ตั้งแต่ในช่วงเช้า ซึ่งปกติ ช่วงเช้าเรามักจะไม่เจอฝน เพราะเมฆมันก้อนเล็ก (ยกเว้นมีพายุ หรือดีเปรสชั่น หรืออะไรก็แล้วแต่ มากระทบ ก็อาจทำให้ช่วงเช้ามีฝนตกได้)
ที่เมฆกลายเป็นก้อนใหญ่ได้ ก็เป็นเพราะมี ลมพัดสอบ หรือลมที่เกิดจากการเบียดตัวเข้าหากันของลม 2 ฝ่ายบริเวณใกล้พื้นโลก ทำให้อากาศบริเวณแนวเบียดตัว ลอยขึ้นเบื้องบน และมักจะมีเมฆฝนเกิดขึ้น เมื่อลมพัดสอบหอบเมฆฝนมารวมกัน มันก็เลยใหญ่ นอกจากลมแล้ว ต้องมีความชื้น และความร้อน จากพื้นล่างเข้ามาช่วยด้วย ฝนถึงจะตกลงมา และที่สำคัญ ยอดเมฆ ต้องสูงมากพอ
ฐานเมฆจะนับจากพื้นดินขึ้นไปราว 1 กิโลเมตร และ ถ้านับจากฐานเมฆ ขึ้นไปถึงยอดเมฆ แล้วมีความสูงแค่ 2 กิโลเมตร โอกาสเกิดฝนจะยาก ถ้าสูงจาก 2 ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 7 กิโลเมตร จะมีฝนแต่ไม่มีฟ้าผ่า แต่ถ้าสูงเกิน 7 กิโลเมตรขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีทั้งฝนทั้งฟ้าผ่าด้วย
ที่ทำไมฝนฟ้าบ้านเรา มันชอบตกมาตอนเลิกงาน สาเหตุเป็นเพราะการที่เมฆจะสะสมความสูงจาก 2 ไปถึง 7 กิโลเมตร มันต้องใช้เวลา นับตั้งแต่เช้ามา กว่าจะใหญ่และสูงพอ ก็ถึงช่วงเย็นพอดี ทีนี้ฝนจะเกิดได้ ต้องมีความชื้น และความร้อนเข้ามากระตุ้นด้วย ซึ่งปกติบ้านเรา ช่วงบ่ายแก่ ๆ 3-4 โมงเย็น อากาศจะร้อนจัดใช้ได้ เมื่อเมฆใหญ่พอมาเจออากาศร้อน มันก็กระตุ้นให้เกิดฝนตกลงมาช่วงเลิกงานพอดี
แนวคิดข้างต้น อาจใช้ได้เฉพาะหน้าฝนเท่านั้น จะไปใช้กับช่วงหน้าหนาวก็ไม่น่าจะเข้ากัน เพราะมีอย่างอื่นประกอบด้วย ทั้งความชื้น ทิศทางลม เช่น ถ้าลมไม่มา เมฆไม่ใหญ่ โอกาสจะมีฝนตกก็ยาก
สรุปคือ ที่ฝนชอบตกตอนเย็น ๆ ใกล้เวลาเลิกงานกลับบ้าน สาเหตุเพราะในช่วงหน้าฝน มีไอน้ำในอากาศเยอะ ความชื้นสัมพัทธ์สูง พออากาศโดนแดดนานเข้าจาก เช้า-สาย-เที่ยง-บ่าย ไอน้ำในอากาศซึ่งร้อนขึ้น ก็จะฟิตจัดหรือมีพลังงานเยอะ ลอยสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็ก ๆ จำนวนมาก ก่อม็อบกลายเป็นเมฆก้อนหนักขึ้น จนถึงจุดหนึ่งก็หนักเกินไป ตกลงมาเป็นฝน”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เพจดังแชร์คลิป ลูกเสือ-เนตรนารี เป็นลม ตากฝนทำพิธีที่สนามศุภฯ
- ไขคำตอบ ทำไม “สวนสนามลูกเสือ” ต้องจัดที่ สนามศุภชลาศัย?
- หนุ่มดวงซวย ถูกฟ้าผ่ายืนริมชายหาด ทั้งที่ฝนตกห่างไปหลายกิโลเมตร
ติดตาม The Thaiger บน Google News: