ข่าว

พบ “เป็ดคับแค” ครั้งแรกที่ อุทยานฯแก่งกระจาน พร้อมสัตว์หายากเพียบ ยันป่าไทยยังสมบูรณ์

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพบ “เป็ดคับแค” ครั้งแรก และสัตว์ป่าหายากอื่น ๆ จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ย้ำความสมบูรณ์ และศักยภาพของผืนป่ามรดกโลก

วันที่ 12 มิถุนายน 2568 เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบสัตว์ป่าหลากหลายชนิด รวมถึงการค้นพบเป็ดคับแค (Nettapus coromandelianus) เป็นครั้งแรกในพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ และศักยภาพของผืนป่ามรดกโลก

นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เผยว่า การค้นพบดังกล่าวเป็นผลมาจากโครงการ การติดตามสัตว์ป่าในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอุทยานฯ และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย โดยทีมเจ้าหน้าที่ได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) ไว้ตามจุดต่าง ๆ ทั่วผืนป่า ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อเก็บข้อมูลทางวิชาการแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการลาดตระเวนและป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ป่าอีกด้วย

อุทยานฯ แก่งกระจานพบ เป็ดคับแค ครั้งแรก ย้ำความสมบูรณ์ของผืนป่ามรดกโลก
ภาพจาก: FB/ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สิ่งสำคัญของการสำรวจในเดือนมิถุนายน 2568 คือการปรากฏตัวของ เป็ดคับแค ซึ่งถือเป็นการบันทึกภาพได้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอุทยานฯ เป็ดคับแค เป็นเป็ดน้ำขนาดเล็ก และเป็นนกน้ำที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ นอกจากนี้ กล้องดักถ่ายยังสามารถบันทึกภาพสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ได้อีกหลายชนิด ซึ่งบ่งชี้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสมบูรณ์ในผืนป่าแห่งนี้ ได้แก่ ช้างดาว เสือดาว สมเสร็จ และนากเล็บสั้น

อุทยานฯ แก่งกระจานพบ เป็ดคับแค ครั้งแรก ย้ำความสมบูรณ์ของผืนป่ามรดกโลก
ภาพจาก: FB/ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายมงคล ได้เน้นย้ำว่า “การค้นพบครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นข่าวดีสำหรับโลกการอนุรักษ์ แต่ยังเป็นเครื่องยืนยันว่าการดูแลรักษาป่าของเราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังคงเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่เรียกที่นี่ว่าบ้าน” ความสำเร็จในการอนุรักษ์ผืนป่าแก่งกระจาน ไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่การปกป้องพืชและสัตว์ แต่ยังเป็นการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี ซึ่งเป็นเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในภาคตะวันตก การค้นพบต่าง ๆ ในครั้งนี้จึงเป็นกำลังใจสำคัญให้เจ้าหน้าที่และทุกภาคส่วนมุ่งมั่นทำงาน เพื่อปกป้องสมบัติล้ำค่าของชาติและของโลกต่อไป

อุทยานฯ แก่งกระจานพบ เป็ดคับแค ครั้งแรก ย้ำความสมบูรณ์ของผืนป่ามรดกโลก
ภาพจาก: FB/ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ลักษณะของเป็ดคับแค

เป็ดคับแค หรือ Cotton pygmy‑goose (Nettapus coromandelianus) เป็นนกเป็ดน้ำขนาดเล็กในวงศ์ Anatidae มีนำหนักเฉลี่ยประมาณ 160 กรัม และความยาวลำตัวราว 26 ซม. ตัวผู้มีใบหน้าดำ และขาว ช่วงคอ และลำตัวขาว กระหม่อมและแถบสีดำบนคอ–หลัง ปีกสีเขียวพร้อมแถบขาวชัดตอนบิน ตัวเมียมีสีเทาน้ำตาล ทึบกว่าตัวผู้ ไม่มีแถบคอ ลำตัวมีลายละเอียดบนอก ขาปากสีเทา ส่งเสียง คว้าก–คว้าก–คว้าก–แอ๊ก ใช้จะงอยปากสั้นจิกกินตามผิวน้ำหรือพื้นดิน และดำน้ำได้ดี

พฤติกรรมของ เป็ดคับแค มักพบรวมฝูงกับนกเป็ดน้ำชนิดอื่น นอกฤดูผสมพันธุ์พบเป็นฝูงใหญ่หลายร้อยถึงพันตัว ฤดูผสมอาจอยู่เป็นคู่หรือเดี่ยว กระจายพันธุ์ในทวีปอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภาคเหนือของออสเตรเลีย ในประเทศไทยจัดเป็นนกประจำถิ่นและสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx