ข่าว

ครูโหด สั่งลงโทษเด็ก ลุกนั่ง 200 ครั้ง จนไตวาย ปัสสาวะเป็นสีโค้ก

อุทาหรณ์ เพจดังแชร์ ครูสั่งลงโทษนักเรียนให้ลุกนั่ง 200 ครั้ง เหตุส่งการบ้านไม่ตรงเวลา สุดท้ายกล้ามเนื้อสลาย ไตวาย และมีปัสสาวะเป็นสีโค้ก หมอชี้ควรตระหนักการลงโทษแบบนี้

วันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพจ Drama-addict โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับนักเรียนถูกครูสั่งลงโทษ ด้วยการให้ลุกนั่ง 200 ครั้ง หลังจากนั้นนักเรียนมีอาการปวดขารุนแรง ปัสสาสวะเป็นมีสีเข้มคล้ายน้ำอัดลม แพทย์วินิจฉัยเป็นภาวะกล้ามเนื้อสลาย ไตวาย และโชคดีที่ไม่มีอาการแย่มากไปกว่านี้ โดยข้อความระบุว่า

“คุณหมอท่านหนึ่งใน กทม. ฝากมา เป็นเคสคนไข้ของเขาเองเป็นเคสเด็กนักเรียนมัธยมปลาย โรงเรียนแห่งนึงใน กทม. คุณครูสั่งลงโทษน้อง เพราะทำการบ้านส่งไม่ตรงเวลา โดยสั่งให้เด็กลุกนั่ง 200 ทีรวด ทำให้น้องมีอาการปวดขา สามสี่วันต่อมา น้องมีอาการปวดขาอย่างรุนแรง และมีอาการปัสสาวะสีเหมือนโค้ก จึงรีบมาโรงพยาบาลทันที

ภาพจาก: FB/ Drama-addict

แพทย์วินิจฉัยเป็น Rhabdomyolysis ภาวะกล้ามเนื้อสลาย ซึ่งเกิดหลังการได้รับบาดเจ็บ หรือใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนัก จนทำให้เซลล์กล้ามเนื้อตาย และของเสียในเซลล์ออกมาสู่กระแสเลือด ทำให้ไตวาย ปัสสาวะเป็นสีโค้ก และเสียชีวิตได้หากรักษาไม่ทัน เคสนี้โชคดีไตเสียหายไม่มากนัก หมอกำลังรักษาอยู่ ก็ต้องลุ้นว่าจะดีขึ้นหรือมีแนวโน้มอาจจะต้องฟอกไต

ภาพจาก: FB/ Drama-addict

คุณหมอฝากมาบอกว่า รู้สึกเรื่องแบบนี้ไม่น่าควรเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้อีกครับ ทั้งในเด็กมัธยม หรือการลงโทษของทหาร จึงอยากฝากเป็นกระบอกเสียงกับประชาชนให้ตระหนักถึงผลลัพธ์ของการลงโทษอาจถึงแก่ชีวิตแบบนี้”

ภาพจาก; FB/ Drama-addict

จากภาพจะแสดงให้เห็นค่า CPK คือ ค่าเอนไซม์ที่หลั่งจากกล้ามเนื้อ เป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่จะตรวจพบได้เมื่อร่างกายมีการสลายกล้ามเนื้อปนออกมาในกระแสเลือด โดยปกติค่า CPK จะอยู่ที่ 20-200 หน่วยต่อลิตร (U/L) จากเคสนี้จะเห็นได้ว่ามีค่า CPK สูงสุดถึง 106,165 หน่วยต่อลิตร (U/L) ซึ่งมากกว่าค่าปกติถึงกว่า 500 เท่า

หลังจากโพสต์ดังกล่าวได้แชร์ออกไป ทำให้มีหลายคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก บางส่วนกล่าวว่า “ก่อนลูกจะไปโรงเรียนต้องบอกกับลูกไว้เสมอว่าครู ลงโทษอะไรได้ไม่ได้บ้าง อันไหนครูลงโทษหนักให้เดินหนี ถ้าครูโกรธจนทำร้ายร่างกายเด็ก ให้บอกผู้ปกครอง เดี๋ยวไปจัดการให้ บางทีก็สั่งลูกของเราด้วยนะครับ ให้รับมือกับครูเเบบนี้ยังไง ส่วนเคสนี้เรื่องมันเกิดขึ้นเเล้วต้องเอาเรื่องให้หนักครับ ไม่รับคำขอโทษ”

“ครูโรคจิตสนุกกับความทรมานเด็กมีเยอะนะ ตอนเด็ก ๆ ป.2 เรียนโรงเรียนรัฐ เคยเห็นครูจับหน้าผากเพื่อนกระแทกโต๊ะ อย่างแรง ซ้ำ ๆ หลายครั้งจนสุดท้าย เพื่อนหัวแตกเลือดอาบ น่ากลัวโคตร เราเองก็เคยถูกครูเอาไม้ไผ่กลม ๆ ตีมือ 40 ที จนมือหงิก เส้นเลือดที่มือแตกบวมม่วง เพราะลืมเอาสมุดการบ้านมา สภาพแบบนี้เด็กอดทนเรียนต่อมาจนเป็นผู้เป็นคนได้นี่ก็น่าอัศจรรย์ใจ ต้องชมเด็ก”

อาการและสัญญาณเตือนของภาวะกล้ามเนื้อสลาย

กล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis) เป็นภาวะที่ร้ายแรงซึ่งเกิดจากการที่กล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ หรือถูกใช้งานหนักมากเกินไป จนเซลล์กล้ามเนื้อลายสลาย และปล่อยสารที่อยู่ภายในเซลล์ เช่น โปรตีนไมโอโกลบิน (Myoglobin) เข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งสารเหล่านี้จะเป็นพิษต่อไต และอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน รวมถึงภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่น ๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้นได้

ส่วนใหญ่พบในเพศชาย เชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน ผู้มีภาวะโรคอ้วน และอายุมากกว่า 60 ปี โดยพบอัตราการเสียชีวิตที่ไม่มีภาวะไตวาย ประมาณ 20% และเสียชีวิตมากถึง 50% สำหรับผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันจากภาวะกล้ามเนื้อสลาย

สาเหตุหลักของอาการกล้ามเนื้อสลาย

  • การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป โดยเฉพาะการออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อน
  • การถูกกระแทกอย่างรุนแรง หรือการถูกกดทับเป็นเวลานาน
  • การชักเกรงอย่าง โรคลมชัก
  • ผลกระทบจากยาสแตติน เพื่อลดคอเลสเตอรอล ยาแก้แพ้ ยาแก้คลื่นไส้ และยาทางจิตเวช รวมถึงยาแก้ปวด และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS)
  • การติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม

อาการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับภาวะกล้ามเนื้อสลาย

  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปัสสาวะลดลง หรือมีสีปัสสาวะเหมือนสีโค้ก
  • อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • ปวดข้อ
  • สับสน
  • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ภาวะขาดน้ำ
  • ปวดท้อง
  • ค่า CPK มากกว่า 5-10 เท่าของค่าปกติ (วัดได้จากการตรวจเลือด)

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อสลาย

เริ่มจากการให้น้ำเกลือ เพื่อป้องกันภาวะช็อกจากการขาดน้ำ (Hypovolemic Shock) รักษาระดับน้ำในหลอดเลือด และช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ มีการตรวจปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ ตรวจค่า CPK ต่อเนื่องทุกวัน และรักษาระดับเกลือแร่ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของไตให้สมดุล ทั้งโพแทสเซียม แคลเซียม กรดยูริก และฟอสเฟต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx