ข่าวข่าวภูมิภาค

รู้จัก “พาราควอต” สารมรณะที่ทั่วโลกแบน แต่ไทยยังอนุญาตให้ใช้ต่อ

เรื่องการเกษตรและสาธารณสุขที่น่าจับตามองและเฝ้าระวังของประเทศไทยในขณะนี้ คือการที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ 16 ต่อ 5 เสียง ไม่ยกเลิกการใช้สารเคมี “พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต” โดยให้ใช้กับพืช 6 ประเภท คือ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียน และให้พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งใน 2 ปีข้างหน้า เว้นแต่สามารถหาสารเคมีอื่นทดแทนก่อนได้

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ภาพ : way magazine

 

ทั้งนี้ “พาราควอต” เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช รู้จักในชื่อทางการค้าว่า ‘กรัมม็อกโซน’ มีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์ ไม่มียาถอนพิษ และมีผลกระทบเรื้อรังต่อสุขภาพ เช่น ก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม ที่น่ากังวลคือแม้ใส่อุปกรณ์ป้องกันก็ยังสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัสทางผิวหนัง ทั้งยังพบตกค้างในอาหาร สิ่งแวดล้อม และมนุษย์จากการวิจัยของหลายสถาบัน นอกจากนี้พาราควอตยังสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์

 

ในปัจจุบันมี 53 ประเทศทั่วโลกที่แบนพาราควอต แม้แต่ประเทศผู้พัฒนา ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ และประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์

 

คลอร์ไพริฟอส เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีกหนึ่งชนิดที่ส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กได้ ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ทำให้มีอาการสมาธิสั้น ปัญหาด้านความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน ส่งผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ มีแนวโน้มเป็นมะเร็งลำไส้ได้

 

ไกลโฟเซต เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช รู้จักในชื่อทางการค้าว่า ‘ราวด์อัพ’ สารเคมีชนิดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กได้ องค์การอนามัยโลก ได้เผยแพร่รายงานในปี 2558 โดยกำหนดให้ไกลโฟเซตเป็น ‘สารที่น่าจะก่อมะเร็ง’ (probably carcinogenic to humans) ในมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีข้อค้นพบว่าไกลโฟเซตสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิดเพิ่มมากขึ้น เช่น เบาหวาน โรคอ้วน อัลไซเมอร์ และทำให้เซลล์รกได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน

 

ในประเทศไทยพบไกลโฟเซตปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรพบการตกค้างของไกลโฟเซตในน้ำดื่มบรรจุขวดที่ผลิตในจังหวัดน่านเฉลี่ย 10.1 ไมโครกรัมต่อลิตร และพบในน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค 11.26 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยมีระดับการตกค้างในหลายตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐานของบางประเทศ การตกค้างของไกลโฟเซตในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายของแม่และทารกเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากมีงานวิจัยชี้ว่าการตกค้างแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อได้

 

 

 

ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกอนาคตที่ปลอดภัยให้กับตัวเองและลูกหลาน การต่อสู้ที่เข้มแข็งของภาคประชาสังคมได้ทำให้รัฐบาลต้องกลับมาฟังเสียงของประชนชน ถ้าเราไม่ตระหนักถึงอันตรายต่อตนเองที่ได้รับจากสารเหล่านี้ จะส่งผลร้ายทั้งต่อสุขภาพตนเองและลูกหลานในวันข้างหน้า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : thestandard.co

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button