รู้แล้วสาเหตุ ทำไมเครื่องบินเล็กตกบ่อย ไหนว่าปลอดภัยสุด
สาเหตุทำไมเครื่องบินเล็กตกบ่อย น้ำหนักเบาแต่ความเสี่ยงหนัก วิเคราะห์โครงสร้าง การดูแล พฤติกรรมนักบิน ที่ทำให้เครื่องบินเล็กอันตรายกว่าที่คุณคาด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข่าวอุบัติเหตุเครื่องบินเล็กตกปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง ทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินฝึกบินที่ตกกลางทุ่งนา เครื่องบินส่วนตัวที่ตกขณะบินชมทัศนียภาพ หรือแม้แต่เครื่องบินพ่นยาที่เกิดเหตุขัดข้องกลางอากาศ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดคำถามว่า เครื่องบินเล็กอันตรายกว่าที่คิดหรือไม่ เหตุใดจึงมีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุบ่อยกว่าเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยสุดในโลก
นิยามของเครื่องบินเล็ก จุดต่างที่น้ำหนัก
เครื่องบินเล็ก หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Light Aircraft หมายถึง เครื่องบินที่มีน้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุดไม่เกิน 5,700 กิโลกรัม ตามนิยามของ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมถึงประเทศไทย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ก็ใช้เกณฑ์เดียวกันนี้ในการจำแนกประเภทเครื่องบิน
เครื่องบินเล็กส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วย เครื่องยนต์ลูกสูบ (Piston Engine) หรือ เครื่องยนต์เทอร์โบพร็อพ (Turboprop Engine) ซึ่งต่างจากเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ใช้ เครื่องยนต์ไอพ่น (Jet Engine) เครื่องบินเล็กสามารถบินได้ในระดับความสูงต่ำกว่า ใช้ความเร็วได้ช้ากว่าเครื่องบินพาณิชย์
ด้วยขนาดเฉพาะนี้ เครื่องบินเล็กจึงปฏิบัติการในระดับความสูงและความเร็วที่ต่ำกว่า ทำให้เข้าถึงพื้นที่ที่เครื่องบินขนาดใหญ่ไม่สามารถไปได้ เป็นเครื่องมือหลักในการฝึกอบรม ณ โรงเรียนการบินทั่วโลก ด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่เข้าถึงง่ายกว่า เป็นทางเลือกสำหรับการเดินทางส่วนตัวหรือธุรกิจที่ต้องการความรวดเร็วและความยืดหยุ่น โดยเฉพาะในระยะใกล้ ใช้ในการขนส่งสินค้าเบาเข้าสู่พื้นที่ห่างไกล การบินสำรวจ การเฝ้าระวัง หรือแม้กระทั่งการบินทางการแพทย์ เสนอประสบการณ์การบินชมทัศนียภาพ หรือบริการเช่าเหมาลำสู่จุดหมายพิเศษ
สาเหตุเครื่องบินเล็กตกบ่อยกว่าเครื่องบินลำใหญ่
ด้วยเครื่องบินเล็กมักบินที่ระดับความสูงต่ำกว่า ทำให้สัมผัสกับสภาพอากาศแปรปรวนได้ง่ายกว่า ที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่ไม่มีระบบตรวจจับสภาพอากาศขั้นสูงอย่าง Weather Radar ที่ช่วยให้นักบินหลีกเลี่ยงกลุ่มเมฆพายุรุนแรงได้ นักบินต้องพึ่งพาการพยากรณ์กับสายตาในการตัดสินใจ ซึ่งการประเมินผิดพลาดเพียงเล็กน้อยในสภาพอากาศที่เลวร้าย เช่น หมอกหนาทึบ (ดังเช่นตัวอย่างอุบัติเหตุในเดือน ก.พ. 2567) หรือลมกระโชก อาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิต รวมถึงการขาดระบบป้องกันน้ำแข็งเกาะ (Anti-icing) ยังจำกัดการบินในสภาพอากาศเย็นจัด ทำให้มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียแรงยก
เครื่องบินเล็กโดยทั่วไปมีระบบอัตโนมัติ ระบบช่วยนักบินน้อยกว่าเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ ระบบนำร่องอัตโนมัติ (Auto Pilot) อาจไม่ซับซ้อนเท่า หรือไม่มีระบบเตือนการชนพื้นดิน/ภูเขา หรือระบบเตือนการชนในอากาศ (TCAS) ที่เป็นเหมือนยามเฝ้าระวังชั้นสุดท้ายในเครื่องบินขนาดใหญ่
ขณะที่เครื่องยนต์ไอพ่นมีชื่อเสียงด้านความทนทาน เครื่องยนต์ลูกสูบของเครื่องบินเล็กนั้น แม้เชื่อถือได้เมื่อดูแลอย่างดี แต่ก็มีความละเอียดอ่อนืต้องการการบำรุงรักษาที่สม่ำเสมอมากกว่า ความขัดข้องของเครื่องยนต์ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของอุบัติเหตุเครื่องบินเล็ก ซึ่งมักเกิดจากดูแลรักษาไม่ดีเพียงพอ
อายุของเครื่องบินเล็กหลายลำอาจมากกว่า 20 ปี ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะไม่ปลอดภัยหากได้รับการดูแลตามมาตรฐาน แต่การบำรุงรักษาเครื่องบินเล็กนั้นมีความหลากหลายอย่างมาก บางครั้งขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์หรือนโยบายของผู้ครอบครองหรือสถาบันการบิน บางแห่งอาจประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ หรือไม่มีช่างผู้เชี่ยวชาญประจำ ทำให้การตรวจสอบตามรอบขาดความละเอียด
ในบางครั้ง การกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับเครื่องบินเล็กอาจไม่เข้มงวดเท่าเครื่องบินพาณิชย์ ทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ให้บริการบางรายอาจละเลยมาตรฐาน เพื่อลดต้นทุน
ประสบการณ์และวิจารณญาณของมนุษย์ คือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมหลายครั้ง นักบินเครื่องบินเล็กมีตั้งแต่ผู้ที่อยู่ในระหว่างการฝึกหัด ผู้ที่มีชั่วโมงบินน้อย ไปจนถึงนักบินส่วนตัวที่อาจไม่ได้เผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินบ่อยเท่า หรือไม่ได้ผ่านการฝึกฝนที่เข้มข้นยาวนานเทียบเท่ากับนักบินพาณิชย์ที่ต้องผ่านการสอบ การประเมินซ้ำอย่างเข้มงวด
วินัยในการทำการบินก็มีส่วน นักบินบางรายอาจละเลยการตรวจสอบความพร้อมของเครื่องบินก่อนบิน การประเมินความเสี่ยง หรือการบินในขณะที่สภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เมื่อรวมกับสถานการณ์ไม่คาดฝันเพียงเล็กน้อย ก็อาจนำไปสู่การสูญเสียการควบคุมได้

สถิติอุบัติเหตุเครื่องบินเล็กทั่วโลก
ข้อมูลจากสำนักงานความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ (NTSB) ระบุว่า ในปี 2020 มีผู้เสียชีวิตจากการบินทั่วไปจำนวน 332 ราย ลดลงจาก 417 รายในปี 2019 แต่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 344 รายในปี 2021
สถิติยังแสดงให้เห็นว่าอัตราอุบัติเหตุของการบินทั่วไปในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 6.84 ครั้งต่อ 100,000 ชั่วโมงบิน แบ่งเป็นอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1.19 ครั้งต่อ 100,000 ชั่วโมงบิน แม้จะลดลงจากจุดสูงสุดในปี 1994 ที่ 9.08 ครั้งต่อ 100,000 ชั่วโมงบิน แต่ยังคงสูงกว่าการบินพาณิชย์
ในปี 2023 แคนาดารายงานอุบัติเหตุทางอากาศในประเทศทั้งหมด 182 ครั้ง เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2022 แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 220 ครั้งต่อปี ในจำนวนนี้มีอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิต 19 ครั้ง รวมผู้เสียชีวิต 33 ราย ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 25 ครั้งและ 40 ราย ตามลำดับ
รายงานจากสำนักงานความปลอดภัยการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) ระบุว่า ในปี 2023 มีอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มการบินทั่วไปจำนวน 35 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 68 ราย ตัวเลขนี้ยังคงสูงและไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
อุบัติเหตุเครื่องบินเล็กในประเทศไทย
ตัวอย่างเช่น มกราคม 2567 เครื่องบินเล็ก แบบเครื่องยนต์เดี่ยว 2 ที่นั่ง หมายเลข U-H77 ตกกลางทุ่งนาใกล้วัดห้วยใหญ่ จ.ชลบุรี ชาวต่างชาติเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 1 คน
นักบินทั้ง 2 คนมีใบอนุญาตถูกต้องและมีประสบการณ์การบิน โดยผู้ที่บาดเจ็บเป็นชาวออสเตรีย ส่วนผู้เสียชีวิตเป็นชาวเยอรมัน ก่อนเกิดเหตุได้ขับเครื่องบินออกจากสนามบินเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไม่ถึง 10 กิโลเมตร หลังจากขึ้นบินได้เพียง 15 นาทีก็ประสบอุบัติเหตุ
เจ้าหน้าที่ AAIC พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ลุยเก็บชิ้นส่วนเครื่องบินเล็กตกที่ อ.บางปะกง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก พบเศษชิ้นเนื้อมนุษย์ และทรัพย์สินเพิ่ม
วันที่ 22 สิงหาคม 2567 เครื่องบินเล็ก Cessna 208B Grand Caravan ทะเบียน HS-SKR เที่ยวบิน TFT209 สุวรรณภูมิ-เกาะไม้ซี้ จ.ตราด ตกในพื้นที่หลังวัดเขาดิน หมู่ที่ 6 ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทร ผู้โดยสารรวมนักบินทั้งหมด 9 คน เสียชีวิตทั้งหมด
ล่าสุด 25 เมษายน 2568 เครื่องบินเล็กตำรวจตกในทะเลหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 1 ราย กำลังปฏิบัติภารกิจฝึกซ้อมกระโดดร่มเตรียมงานวันคล้ายวันสถาปนาหน่วย ตขด. โดยตกห่างจากชายฝั่งประมาณ 100 เมตร บริเวณหน้ารีสอร์ตเบบี้แกรนด์
เครื่องบินลำที่ตกเป็นรุ่น DHC6-400 Twin Otter เข้าประจำการในปี พ.ศ.2563 เป็นเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธี ใช้งานได้ในหลายภารกิจ ทั้งการส่งกำลังทางอากาศ ขนส่งบุคคล ส่งกลับสายการแพทย์ ลำเลียงยุทโธปกรณ์ เป็นต้น