รัฐบาล เตรียมแจกถุงยางฟรี รับวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ. รับได้ที่ไหนบ้าง?
![](https://thethaiger.com/th/wp-content/uploads/2025/02/condoms-gc835a7a9e_1280-1.jpg)
รัฐบาล เตรียมแจกถุงยางฟรี รับวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ. ส่งเสริมให้ประชาชนมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ตอบรับได้ที่ไหนบ้าง
นาย คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องในเทศกาลแห่งความรัก 14 ก.พ.นี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมให้วัยรุ่นและเยาวชนตระหนักถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และให้ความสำคัญในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศที่เหมาะสม รวมถึงการดูแลรักษา HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตลอดเดือน ก.พ. เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นและเยาวชนรักอย่างปลอดภัย มีทางเลือกที่ออกแบบได้ ด้วยบริการที่เป็นมิตร ภายใต้แนวคิด “รัก เลือกได้ : Youth Choices for SAFE SEX” ซึ่งกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประกอบด้วย
1.Protect me Protect you ป้องกันฉัน ปกป้องเธอ ประชาชนทุกเพศ ทุกวัยสามารถเข้าถึงอุปกรณ์สำหรับป้องกันเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาทิ แจกถุงยางอนามัยฟรี ผ่านหน่วยบริการสุขภาพของรัฐและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ และแอปพลิเคชันเป๋าตัง ในเมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค หมวดถุงยางอนามัย และเลือกหน่วยบริการใกล้บ้าน
ซึ่งมีให้เลือกทั้งโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก ร้านขายยา จากนั้นกดจองสิทธิ และไปรับถุงยางอนามัยตามวันและเวลาที่จองสิทธิได้เลย
ให้บริการยา PrEP/PEP ฟรีทุกสิทธิ ป้องกันก่อน-หลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี ที่โรงพยาบาลของรัฐ และหน่วยบริการสุขภาพ สามารถเช็กหน่วยรับบริการ PrEP และ PEP ได้ที่ http://buddystation.ddc.moph.go.th/search_store/
2.ให้คำปรึกษา เหมือนมีบัดดี้คู่ใจ อาทิ บริการให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมการตรวจคัดกรองเอชไอวี ด้วยเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษา และสามารถเข้าถึงข้อมูลชุดความรู้และประเมินความเสี่ยงเรื่องเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผ่านทาง LINEID @549vhjtt บริการให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม การคุมกำเนิด จากสำนักอนามัย การเจริญพันธุ์ กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลด้านสิทธิต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับวัยรุ่นและเยาวชน
สามารถตรวจสอบสิทธิในการเข้ารับบริการด้านการคุมกำเนิด ค้นหาสถานบริการที่ให้บริการคุมกำเนิด มีระบบบันทึกประจำเดือนช่วยเช็กการมาของรอบเดือน และยังมีบริการสายด่วน 1663 และ Chat Bot ตอบคำถาม ผ่านทาง LINEID ได้ที่ @teen_club
ในกรณีวางแผนการตั้งครรภ์ แนะนำให้ฝากครรภ์โดยเร็วเพื่อรับบริการตรวจคัดกรองเอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัส ตับอักเสบบี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทราบสถานะการติดเชื้อของแม่ หากแม่ติดเชื้อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสี่ยงของลูกที่จะได้รับเชื้อจากแม่ เป็นการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูก
3.บริการตรวจเร็วอย่างเป็นมิตร และตรวจง่ายได้ด้วยตัวเอง อาทิ ตรวจเอชไอวีฟรี ปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลภายใต้หลักประกันแห่งชาติทั่วประเทศ หรือตรวจด้วยตนเอง โดยขอรับชุดตรวจหาการติดเชื้อด้วยตนเอง (HIV self-test) ฟรี สามารถตรวจสอบหน่วยรับบริการที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://hivsst.ddc.moph.go.th/
บริการตรวจคัดกรองเอชไอวีและซิฟิลิสด้วยชุดตรวจแบบทราบผลเร็ว (Rapid test) ตรวจฟรี สำหรับเยาวชน อายุ 15-24 ปี ไม่ต้องขออนุญาตผู้ปกครอง (สำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี) ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา พิษณุโลก ปทุมธานี มหาสารคาม นครราชสีมา อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา สามารถสอบรายละเอียดโครงการได้ที่ 0-2590-3217
4.รักษาได้ เข้าถึงทุกสิทธิ เอชไอวี รักษาฟรีทุกสิทธิ ด้วยยาต้านเอชไอวีแบบรวมเม็ด (Antiretroviral Drug: ARV) ในวันเดียวกันที่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวี หรือโดยเร็วที่สุด ที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษา ให้บริการที่เป็นมิตร สะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์วัยรุ่นและเยาวชน
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรครายงานสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุ 15–24 ปีที่มีแนวโน้มการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
จากข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของกรุงเทพมหานครในปี 2567 พบผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมด 10,879 คน หรืออัตราป่วยเพิ่มจาก 47.35 เป็น 96.87 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าระดับประเทศที่ 57.12 ต่อประชากรแสนคน
โดยโรคที่พบมากที่สุดคือซิฟิลิส 3,677 คน คิดเป็น 50.999 ต่อประชากรแสนคน ตามมาด้วยโรคหนองใน หูดหงอนไก่ หนองในเทียม และเริม ตามลำดับ ขณะเดียวกันการติดเชื้อเอชไอวีในปี 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,095 คน ซึ่งอยู่ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15–24 ปี และมีผู้เสียชีวิต 1,744 คน
รัฐบาลมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวกและทั่วถึง จากสถานการณ์การเพิ่มสูงขึ้นของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ในกลุ่มเยาวชน ได้มีการจัดกิจกรรมการให้บริการจากภาครัฐ และรณรงค์ใช้ถุงยางอนามัย รวมถึงเผยแพร่แนวทางดูแลสุขภาพทางเพศที่ถูกต้อง
โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ความรู้เพิ่มเติมและกิจกรรมต่างๆ ตลอดเดือนก.พ. ได้ที่เว็บไซต์กองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- วาเลนไทน์นี้ รักปังหรือพัง? เปิดคำทำนายดวงความรัก 12 ราศี ก.พ. 68
- อย่าหาทำ อ.เจษฎาชี้ 3 สูตรเครื่องดื่มผสมสุดไวรัล ไม่ช่วยให้ไม่ท้อง เอาเงินซื้อถุงยางดีกว่า
- ผู้ชายต้องรู้ หมอแนะ วิธีเลือกถุงยางอย่างถูกต้อง ขนาดสำคัญกว่าความบาง