ข่าว

อย่าชะล่าใจ ปวดท้องตรงลิ้นปี่ หากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจกลายเป็นมะเร็ง

โรคร้ายใกล้ตัวกว่าที่คิด ‘หมอเจด’ เตือนอาการปวดท้อง-แสบตรงลิ้นปี่ อาจไม่ใช่โรคกระเพาะธรรมดาอย่างที่คิด หากปล่อยทิ้งไว้นาน สามารถเกิดเป็นมะเร็งได้ แนะวิธีรักษา ควรตรวจเชื้อ H. pylori

อาการปวดท้อง เป็นอาการทั่วไปที่หลายคนมักมองข้าม เพราะคิดว่าเป็นเพียงอาการปวดท้องธรรมดาที่เดี๋ยวก็หาย แต่รู้หรือไม่ว่า อาการปวดท้อง หรือแสบตรงลิ้นปี่ ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนั้น อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่โรคร้ายแรงอย่าง “มะเร็ง”

Advertisements

“หมอเจด” หรือ นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางแฟนเพจ หมอเจด เล่าถึงอาการของปวดท้อง และแสบตรงลิ้นปี่ โดยยกเคสของผู้ป่วยรายหนึ่ง ที่แรกเริ่มมีอาการปวด และคาดว่าอาจเป็นเพียงปวดท้องโรคกระเพาะ ก่อนที่สุดท้ายจะพบว่า ติดเชื้อ Helicobacter Pylori

เตือนโรคร้าย จากอาการเจ็บลิ้นปี่
ภาพจาก : หมอเจด

โพสต์ดังกล่าวระบุข้อความไว้ดังนี้ “วันนี้อยากมาเล่าเคสหนึ่งให้ฟัง เป็นเรื่องของชายวัย 45 ปี ผู้ชายคนนี้ทำงานเป็นเซลส์ขายของ วันหนึ่งเขามาพบผมเพราะมีอาการปวดแสบ ๆ บริเวณลิ้นปี่ โดยเฉพาะหลังมื้ออาหาร เขาเล่าว่าเคยซื้อยาลดกรดมากินเองอยู่หลายครั้ง เพราะคิดว่าเป็นโรคกระเพาะธรรมดา

ปัญหาคือ อาการมันไม่หายสักที ซึ่งเรื่องนี้เจอได้บ่อย หลายคนเวลาเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ มักจะซื้อยากินเอง เพราะคิดว่ามันแค่โรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน ซึ่งแนะนำว่า ถ้าอาการมันไม่ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ หรือปวดบ่อย ๆ แบบเรื้อรัง

แนะนำให้ตรวจหาเชื้อที่ชื่อว่า Helicobacter pylori หรือ H. pylori ซึ่งเชื้อตัวนี้เป็นแบคทีเรียที่ชอบอยู่ในกระเพาะอาหาร มันทนกรดได้ดีมาก แถมยังทำลายเยื่อบุผิวกระเพาะ ทำให้เกิดการอักเสบ บางคนอาจมีแผลในกระเพาะ และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาจกลายเป็นมะเร็งได้ เดี๋ยวนี้มีหลายวิธี เช่น ตรวจลมหายใจ (Urea Breath Test) หรือวิธีง่าย ๆ อย่างการตรวจจากอุจจาระด้วยตัวเอง ซึ่งสะดวกและไม่ยุ่งยาก

หลังจากที่เขาตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจก็พบเชื้อ H. pylori จริง ๆ ครับ เลยรักษาต่อ โดยการรักษานั้นจะใช้ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) คู่กับยาลดกรดชนิดพิเศษ ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotics) ที่ใช้บ่อย ๆ เช่น Amoxicillin และ Clarithromycin สองตัวนี้ช่วยกำจัดเชื้อ H. pylori

Advertisements

ยาลดกรดชนิดพิเศษ เช่น Proton Pump Inhibitors (PPIs) ที่ช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะ เพื่อให้เยื่อบุฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่ข้อควรระวังคือการกินยาฆ่าเชื้อ ต้องกินตามคำสั่งหมอให้ครบ ถ้ากินไม่ครบ เชื้ออาจดื้อยาและรักษายากขึ้นไปอีก

เจ็บลิ้นปี่ เสี่ยงเป็นโรค
ภาพจาก : หมอเจด

ถึงเชื้อตัวนี้จะน่ากลัว และทำให้เสี่ยงมะเร็ง แต่มันมีวิธีป้องกันการติดเชื้อ แค่ทำตามนี้นะครับ ดูแลเรื่องอาหารและน้ำดื่ม

1. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และหลีกเลี่ยงอาหารดิบ เช่น ยำที่ไม่ผ่านการปรุงสุก

2. ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงน้ำดื่มที่ไม่ผ่านการกรองหรือการฆ่าเชื้อ

3. ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน

รักษาสุขอนามัยส่วนตัว

1. ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ

2. ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

3. หลีกเลี่ยงการใช้จานชามหรือแก้วน้ำร่วมกับคนอื่น หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำร้ายกระเพาะอาหาร

4. งดสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่ทำให้เยื่อบุกระเพาะอ่อนแอ

5. ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร

6. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด เช่น เผ็ด เค็ม หรือเปรี้ยวเกินไป

ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ

7. หากมีอาการปวดท้องเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์และตรวจหาเชื้อ H. pylori

การจัดการความเครียด

1. ความเครียดส่งผลต่อการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เยื่อบุกระเพาะอ่อนแอ

2. หาเวลาพักผ่อนและออกกำลังกายเพื่อคลายเครียด

ดังนั้น อาการปวดท้องแสบ ๆ ที่หลายคนคิดว่าเป็นแค่โรคกระเพาะธรรมดา อาจจะเป็นอะไรที่อันตรายกว่าที่คิด ถ้าเราปล่อยให้เชื้อ H. pylori อยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานานจะเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการปวดแสบที่ลิ้นปี่ อย่าลืมตรวจหาเชื้อที่พูดมา อีกเรื่องที่สำคัญคืออย่าลืมป้องกัน และดูแลตัวเอง”

เจ็บลิ้นปี่ เสี่ยงเป็นโรค
ภาพจาก : หมอเจด

รู้จัก H. pylori แบคทีเรียที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร

Helicobacter pylori (H. pylori) เป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปเกลียว (spiral-shaped) ที่อาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของมนุษย์ โดยผู้ติดเชื้อส่วนมากจะเกิดภาวะกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังแต่ไม่แสดงอาการ แบคทีเรียตัวนี้สามารถแพร่ระบาด หรือติดต่อจากคนสู่คน

ผู้ติดเชื้อ H. pylori หลาย ๆ คนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่ในบางคนแบคทีเรียชนิดนี้สามารถก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) โรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Peptic Ulcer Disease) รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric Cancer)

เช่นนั้นแล้ว หากพบอาการที่น่าสงสัย อาทิ ปวดท้องเรื้อรัง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย โดยแพทย์อาจทำการตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ การตรวจอุจจาระ (Stool Antigen Test) ตรวจลมหายใจ (Urea Breath Test) และ การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร (Endoscopy)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button