อาจารย์ มก. ค้นพบ ‘กระเจียวสรรพสี’ พืชชนิดใหม่ของโลก ที่พระธาตุผาแดง จ.ตาก
ก้าวสำคัญ ‘ดร. ศุทธิณัฏฐ์’ อาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบ ‘กระเจียวสรรพสี’ พืชชนิดใหม่ของโลก พืชถิ่นเดียวของประเทศไทย ที่อ.พระธาตุผาแดง จ.ตาก
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร เปิดเผยข่าวสำคัญของวงการพฤกษศาสตร์แห่งประเทศไทย ว่า ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ อาจารย์สังกัดภาควิชาเกษตรและทรัพยากร คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร ได้รายงานการค้นพบ กระเจียวสรรพสี (Curcuma diversicolor Soonthornk) พืชชนิดใหม่ของโลก และเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย พบกระจายพันธุ์อยู่ในป่าชุมชนของอำเภอพระธาตุผาแดง จังหวัดตาก
การค้นพบครั้งนี้ ‘ดร. ศุทธิณัฏฐ์’ เป็นการร่วมมือกับคนในชุมชนเพื่อติดตามผลวิจัยกว่า 4 ปี จนมั่นใจว่าเป็นกระเจียวชนิดใหม่ของโลก และตีพิมพ์รายงานลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ออนไลน์ในวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
กระเจียวสรรพสี มีความพิเศษคือ มีใบประดับ (bracts) ที่มีที่สีสันหลากหลาย จึงเป็นที่มาของชื่อ กระเจียวสรรพสี และมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Harlequin curcuma ซึ่งสอดคล้องกับชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma diversicolor ซึ่งมีความหมายว่ามีหลายสี เช่นเดียวกัน
กระเจียวสรรพสีเป็นพืชล้มลุกสูงได้ถึง 80 เซนติเมตร มีลำต้นใต้ดินรูปไข่หรือรูปทรงลูกแพร์ ลำต้นใต้ดินมีการแตกแขนง เนื้อด้านในลำต้นสีเหลืองครีม ก้านใบมักมีสีน้ำตาลแดงที่ฐาน ใบรูปรี แผ่นใบพับจีบมีสีเขียวมักมีแถบสีแดงที่เส้นกลางใบ ช่อดอกออกก่อนเกิดใบ ออกที่ด้านข้างของลำต้น ก้านช่อดอกสั้น ช่อดอกมีความยาว 8.2 – 15 เซนติเมตร และกว้าง 6 – 7.5 เซนติเมตร
ประกอบด้วยใบประดับได้มากถึง 40 ใบ มีสีสันหลากหลายตั้งแต่สีขาวถึงสีชมพูอมม่วง และมักมีแต้มสีเขียวถึงสีชมพูที่ปลาย ดอกยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกมีสีชมพูอ่อนถึงสีครีมมีแต้มสีชมพูอ่อนที่ปลาย สเตมิโนดรูปขอบขนานเบี้ยว มีสีขาวครีมถึงสีเหลืองครีม กลีบปากรูปไข่มีแถบสีเหลืองหรือครีมที่กึ่งกลางของกลีบปากส่วนปลายกลีบปากแยกเป็นสองพู ก้านอับเรณูมีสีเหลือง อับเรณูสีขาวมีเดือยแหลม 1 คู่ รังไข่มีขนสั้นนุ่มปกคลุม
ปัจจุบันยังไม่มีการใช้ประโยชน์โดยคนท้องถิ่น และไม่พบการคุกคามต่อประชากรในธรรมชาติ แม้ว่ากระเจียวสรรพสีจะมีประชากรขนาดใหญ่ในถิ่นอาศัยธรรมชาติ แต่ พบการกระจายพันธุ์เพียงแหล่งเดียวทำให้ขาดข้อมูลในการประเมินสถานภาพการอนุรักษ์เบื้องต้นจึงจัดอยู่ในกลุ่ม ข้อมูลไม่เพียงพอ (Data Deficient; DD)
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการลดผลกระทบของการลดจำนวนจากแหล่งธรรมชาติในอนาคต ทางผู้วิจัยจึงได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเป็นการอนุรักษ์นอกถิ่นอาศัย (ex situ conservation) เพื่อเก็บรวบรวมพันธุ์สกุลกระเจียวชนิดต่าง ๆ ของประเทศไทยเพื่อการวิจัยและอนุรักษ์ ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยขั้นสูงทางพฤกษศาสตร์ และจากสีสันหลากหลายและสวยงามของช่อดอก ประกอบกับสามารถในการบานได้นานกว่า 1 เดือน จึงมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้ในอนาคตต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง