เภสัชกร รพ.ดัง ตัดสินใจจบชีวิต ทิ้งจดหมาย ‘หัวหน้า’ บีบคั้น กดดันให้ลาออก
เภสัชกรหนุ่ม ของโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง ย่านพระราม 9 เขียนจดหมายตัดพ้อก่อนจบชีวิตตัวเอง อ้างถูก “หัวหน้างาน” กดดันทุกทางบีบเพื่อให้ลาออก
นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นในวงการแพทย์อีกครั้ง เมื่อเพจ อีซ้อขยี้ข่าว : อีซ้อ ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับ เภสัชกรหนุ่มของโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่งย่านพระราม 9 ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองก่อนวัยอันควร โดยจดหมายจากผู้เสียชีวิต ระบุว่า เพราะการกระทำที่ถูกกดดันตลอดระยะเวลาการทำงาน ถูกบีบคั้นให้ลาออกจากหัวหน้างาน ซึ่งเขาได้เขียนจดหมายตัดพ้อเอาไว้ก่อนเสียชีวิตว่า
“พี่อ๊อฟครับ…การที่ผมตัดสินใจต้องจากคนที่รักไปก่อนวัยอันควร ขอให้พี่อ๊อฟรับรู้ไว้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมาจากตัวผมที่โชคร้ายต้องมาเจอหัวหน้างานแบบพี่ ที่ไม่เคยรับฟังอะไร ชอบใช้วิธีบีบคั้น กดดันเพื่อให้ผมลาออก…เภสัชกรคนหนึ่งใน รพ. ชื่อดังแถวพระราม 9”
ขณะเดียวกันอีซ้อก็ได้โพสต์ภาพที่เป็นหน้าแชตที่พูดคุยกันระหว่าง เภสัชกรหนุ่ม และหัวหน้างาน ในทำนองของการสลับเวรกับเพื่อนคนอื่น ๆ ทำงานดูเหมือนไม่มีความสุข แนะนำให้ย้ายแผนก ก่อนที่หัวหน้าจะวีนแตกในกลุ่มแจ้งงานแล้วลงท้ายให้ไปเขียนใบลาออก
ก่อนที่อีซ้อจะแจ้งเพิ่มเติมในคอมเมนต์ว่า “น้องเสียชีวิตจากการรมควันในรถ เจ้าตัวเขียนจดหมายระบายความในใจ สาเหตุที่ต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้เกิดจากหัวหน้างาน” ท่ามกลางคอมเมนต์ของชาวเน็ตที่แสดงความเสียใจกับผู้ที่เสียชีวิต
ขณะเดียวกันก็มีคอมเมนต์จากบุคคลที่อ้างว่าเป็นหัวงานเช่นกันออกมาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นข้างต้นในอีกมุมมองหนึ่งว่า “นี่ก็ยังอยากให้ลูกน้องลาออกตั้งหลายคน แต่ไม่ออกสักที บอกให้ไปหางานใหม่ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตก็ไม่ไป” ซึ่งเมนต์ดังกล่าวก็ถูกอีซ้อแคปมาโพสต์ในหน้าเพจเช่นกัน โดยระบุแคปชั่นว่าคนที่แสดงความคิดเห็นนี้ คือ พี่อ๊อฟ หัวหน้างานที่เภสัชกรกล่าวถึงก่อนเสียชีวิต “ความคิดเห็นจาก “พี่อ๊อฟ” ในฐานะหัวหน้างาน…” แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใช้ตัวจริงหรือไม่
การแลกเวร ขายเวรของบุคลากรการแพทย์คืออะไร หลายคนไม่รู้
การขายเวรในโรงพยาบาล คือการที่บุคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาล แพทย์ หรือเจ้าหน้าที่เวร ที่มีหน้าที่ต้องเข้ากะทำงานในช่วงเวลาที่กำหนด สามารถ เปลี่ยนหรือยกเวรของตนเองให้กับบุคคลอื่น ได้ โดยมักเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันระหว่างบุคลากรที่ต้องการขายเวรและผู้ที่รับซื้อเวร ซึ่งอาจมีค่าตอบแทนเป็นเงินหรือสิ่งตอบแทนอื่น ๆ
วัตถุประสงค์ของการขายเวร หลายคนเพื่อการพักผ่อน บุคลากรที่ทำงานหลายกะต่อเนื่องอาจรู้สึกเหนื่อยล้าและต้องการเวลาพักผ่อนเพิ่มเติม การจัดการชีวิตส่วนตัว หรือ อาจมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ภาระครอบครัวหรือสุขภาพส่วนตัว ทำให้ต้องการเปลี่ยนเวร
ด้านผู้ที่รับซื้อเวรเองอาจต้องการเพิ่มรายได้ เนื่องจากเวรที่เพิ่มมักมีค่าตอบแทนพิเศษหรือมีอัตราชั่วโมงสูงกว่าปกติ เช่น เวรกลางคืน
วิธีการขายเวร ส่วนใหญ่เป็นการตกลงส่วนตัวพนักงานสองฝ่ายตกลงกันเองเรื่องรายละเอียดเวรและค่าตอบแทน แต่มีบ้างที่บางโรงพยาบาลอาจมีระบบจัดการเวรที่อนุญาตให้เปลี่ยนหรือขายเวรอย่างถูกต้องตามระเบียบ ในหลายกรณี ผู้บริหารแผนกหรือหัวหน้างานต้องรับรู้และอนุมัติการเปลี่ยนเวร
แต่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา เพื่อมีการแลกเปลี่ยนเวรคือ คุณภาพการดูแลผู้ป่วย ต้องมั่นใจว่าผู้ที่มารับเวรมีความพร้อมและมีความเชี่ยวชาญเท่ากับหรือใกล้เคียงกับผู้ที่ขายเวร และ การรับเวรเพิ่มโดยไม่ได้พักเพียงพออาจทำให้เกิดความเครียดและอ่อนเพลีย
นอกจากนี้ กฎระเบียบของโรงพยาบาลบางแห่งอาจมีข้อจำกัดเรื่องการขายเวรเพื่อป้องกันปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัย
อัปเดตล่าสุด : โรงพยาบาลพระราม 9 แถลง เภสัชกร จบชีวิตตัวเอง ยินดีดูแลครอบครัวผู้สูญเสีย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เดือด หนุ่มขอลาดูใจแม่วาระสุดท้าย โดนหัวหน้าสวนทำไมหยุดงานมั่วซั่วงี้
- หัวหน้าแฉลูกน้อง สั่งงานด่วนไม่ทำ ตอบเฟียซ ‘รีบมากทำไมไม่สั่งเมื่อวาน’ งานนี้ใครผิด
อ้างอิงจาก : FB อีซ้อขยี้ข่าว : อีซ้อ