บก.ลายจุด ติดแฮชแท็ก #ทีมพี่เล็กแสงเดือน หลัง “น้ำท่วมปางช้าง” แม่แตง
บก.ลายจุด ติดแฮชแท็ก #ทีมพี่เล็กแสงเดือน ถามกลับ กำลังเข้าใจอะไรผิด บุคคลระดับโลกเรื่องคุ้มครองสิทธิสัตว์กันอยู่หรือไม่ หลังเกิดเสียงวิจารณ์ การจัดการของปางช้าง น้ำท่วมใหญ่ แม่แตง
จากกรณี แสงเดือน ชัยเลิศ ผอ.ศูนย์บริบาลช้างแม่แตง จ.เชียงใหม่ และประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยความเสียหายหลัง น้ำท่วมในศูนย์บริบาลช้างที่มีช้าง 126 เชือก และสัตว์อื่น ๆ อาทิ หมา, แมว, ควาย, ไก่ และหมู กว่า 5 พันตัว ป่วยพิการ ต้องระดมความช่วยเหลือแต่ก็มีช้างถูกน้ำพัดไปกว่า 30 เชือก
อัปเดตตอนนี้ในส่วนความสูญเสีย มีรายงานพบซากช้าง 2 เชือก ได้แก่ พังฟ้าใส อายุ 16 ปี และพังพลอยทอง ช้างพิการตาบอด อายุ 40 ปี โดยช้างทั้งสองหลุดออกมาจากปางช้างแล้วถูกกระแสน้ำไหลเชี่ยวแรงพัดมากระแทกกับโขดหิน
หลังเกิดเหตุเศร้าดังกล่าว ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงแผนอพยพช้างว่าทำได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่ ลามไจนถึงวิธีฝึกและเลี้ยงดูช้างในปัจจุบันของแต่ละที่ โดยล่าสุด สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” แสดงความเห็นกรณีนี้ด้วย โดยกล่าวว่า ตนไม่เคยคิดว่าสิ่งที่พี่เล็ก แสงเดือน ชัยเลิศ เป็นวิธีการดูแลสัตว์ที่สุดโต่งอย่างที่บางคนพูดถึง ในทางกลับกันผมมองว่าหากจะมีใครสักคนที่แปลงความเชื่อเรื่องความเข้าใจชีวิตของสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยงไปสู่การปฏิบัติได้ดีที่สุดคนหนึ่งเธอคือคนๆ นั้น
โพสต์ของบก.ลายจุด เล่าเนื้อหาต่อว่า “หลายสิบปีมาแล้วที่บทสนทนาตอบโต้กันระหว่างแนวทางคนเลี้ยงช้างแบบบังคับ ควบคุมกันด้วยตะขอเหล็กเกี่ยวหูและโซ่ที่ล่ามช้าง กับการสื่อสารกันระหว่างมนุษย์กับช้างในแบบที่เคารพกันและกันเป็นเพื่อนร่วมโลก ไม่ใช่แบบเจ้าชีวิตและอีกฝ่ายเป็นทาสแรงงานไปจนตาย”
“พี่เล็กแสงเดือนเป็นคนไทยที่คนไทยจำนวนมากไม่รู้จัก แต่เธอเป็นบุคคลระดับโลกในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของสัตว์ ถ้าคนไทยรู้จัก สตีฟ เออร์วิน เล็ก แสงเดือน ก็คือคนๆ นั้นที่เป็นคนไทย ความพยายามที่จะปกป้องชีวิตของสัตว์ป่า หรือสัตว์ต่างๆของเธอไปไกลเกินกว่าการเลี้ยงสัตว์ในกระแสหลักไปหลายปีแสง และนี่ไม่ใช่ความเพ้อเจ้อหรือ Woke เพราะความคิดของเธอทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการจัดการช้างป่าในศรีลังกาและอีกหลายประเทศประสบความสำเร็จจากการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับมนุษย์”
“ถ้านึกไม่ออกก็ให้นึกถึงปัญหาช้างป่าในไทย แต่สิ่งนี้ประสบความสำเร็จในต่างประเทศแล้วอย่างน่าอัศจรรย์ จนทำให้การท่องเที่ยงซึ่งเป็น GDP หลักของศรีลังกาผูกกับการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับช้างป่า แต่สำหรับแนวคิดการจัดการช้างในไทยนั้นเป็นวิธีการแบบโบราณที่ใช้อำนาจควบคุมช้าง ใช้งานช้างจนตายคางานมานักต่อนัก”
ทั้งนี้ บก.ลายจุดทิ้งท้ายต่อกรณีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่แม่แตง และมีเสียงตำหนิวิธีการจัดการของปางช้างของพี่เล็ก แสงเดือน โดยถามกลับไปยังอีกฝ่ายว่า พวกคุณเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า เธอ (พี่เล็ก) ดูแลช้างนับร้อยตัว เป็นช้างแก่ บาดเจ็บ และพิการ มีหมู ควาย หมา แมว อีกเกือบหมื่นชีวิต
“เขาอพยบกันมาก่อนหน้านี้เมื่อมีสัญญาณ แต่ด้วยจำนวนที่มากมายมหาศาลของจำนวนสัตว์ทำให้จัดการได้ไม่หมดและเกิดการสูญเสีย นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาตำหนิกัน แต่เป็นเรื่องของการให้กำลังใจซึ่งกันและกันในยามนี้ #ทีมพี่เล็กแสงเดือน”.
อ่านข่าวเพิ่มเติม