น้ำท่วมรอบนี้ กรุงเทพเสี่ยงแค่ไหน เช็กพื้นที่น้ำท่วมขัง
จากกรณี สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศเตือน 36 จังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังภัยน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 24-30 สิงหาคม 2567 นี้
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร เผย กทม. ประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูง หลังกรมอุทกศาสตร์ฯ ออกประกาศเตือนฉบับที่ 14/2567 ให้ระวังผลกระทบจากระดับน้ำขึ้นสูงในช่วง 17-24 ส.ค. 67 ประกอบกับฝนตกหนักในภาคเหนือ อาจทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อพื้นที่บางส่วนของ กทม. ได้
กรุงเทพมหานครเตรียมพร้อมเต็มที่รับมือสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูง โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังเสริมความแข็งแกร่งแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆ ด้วยการเรียงกระสอบทรายให้สูงขึ้นในจุดที่จำเป็น เพื่อป้องกันน้ำล้นเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนและสร้างความเสียหาย
พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังกรุงเทพฯ
จากการตรวจสอบย้อนหลังและสรุปข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ พบว่า
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยข้อมูลสะท้อนปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในกรุงเทพฯ ช่วง 9 ปี (พ.ศ. 2548-2556) พบพื้นที่รอบนอกวิกฤตสุด โดยเฉพาะเขตหนองจอก คลองสามวา ลาดกระบัง และมีนบุรี เจอน้ำท่วมซ้ำซากแทบทุกปี (7-9 ปี)
ขณะที่บางส่วนของเขตสายไหม บางเขน และคันนายาว ก็ยังมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก 5-6 ปีเช่นกัน
กรณีน้ำท่วมปี 2554 ถือเป็นปีแห่งมหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในกรุงเทพฯ เกือบทุกพื้นที่จมอยู่ใต้น้ำ มีเพียง 12 เขตเท่านั้นที่รอดพ้น ได้แก่ ทุ่งครุ, ราษฎร์บูรณะ, คลองสาน, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, ราชเทวี, วังทองหลาง, พญาไท, วัฒนา, สาทร, สวนหลวง, ปทุมวัน และบางนา ส่วนเขตที่เหลือได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป
สาเหตุหลักกรุงเทพน้ำท่วมซ้ำซาก
กรุงเทพมหานครต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก สาเหตุหลักมาจากหลายปัจจัย ได้แก่
– เมืองไร้พื้นที่รับน้ำ พื้นที่สีเขียวอย่างทุ่งนาและร่องสวนในอดีตได้ถูกแทนที่ด้วยอาคารและคอนกรีต ทำให้น้ำฝนไม่มีที่ไป ก่อให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนน
– กรุงเทพฯ มีท่อระบายน้ำเล็กเกินไป ท่อระบายน้ำส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีขนาดเล็กและเก่า ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้
– ปัญหาท่ออุดตัน การทิ้งขยะและไขมันลงท่อระบายน้ำทำให้เกิดการอุดตัน ขัดขวางการระบายน้ำ
– ปัจจัยจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดฝนตกหนักและถี่ขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ
4 แอปฯ อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วม
เช็คก่อนภัยมา 4 แอปฯ อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วมฉับไว อย่ารอให้ภัยมาถึงตัว! โหลดแอปฯ ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมืออย่างทันท่วงที
– ไทยวอเตอร์ (ThaiWater) รายงานสถานการณ์น้ำและอากาศทั่วไทย ทั้งแผนที่ปริมาณฝน สภาพอากาศ เส้นทางพายุ ข้อมูลเขื่อน และปริมาณน้ำใช้การ
– ดีพีเอ็ม รีพอร์ตเตอร์ (DPM Reporter) แจ้งเตือนภัยสาธารณภัยทุกรูปแบบ ทั้งภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ และรายละเอียด พร้อมเปิดให้ประชาชนร่วมรายงานเหตุด้วย
– ดับเบิลยูเอ็มเอสซี (WMSC) ครบเครื่องเรื่องน้ำ! รายงานสถานการณ์น้ำ กล้องCCTV ข้อมูลน้ำในอ่าง น้ำฝน น้ำท่า แถมยังมีข้อมูลสภาพอากาศและภาพถ่ายดาวเทียม
– ดีดับเบิลยูอาร์โฟร์ไทย (DWR4THAI) ข้อมูลข่าวสารจากกรมทรัพยากรน้ำโดยตรง ทั้งสถานการณ์น้ำ บริการแจ้งเหตุ และเตือนภัยธรรมชาติ
แจ้งเหตุ-ขอความช่วยเหลือ: ผ่าน Line ID @1784DDPM, แอปฯ “พันภัย” หรือโทร 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
อ้างอิง: ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร, ddproperty.com
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน 24-30 ส.ค. เผยพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง
- น้ำท่วมเชียงรายหนัก เผยสถานการณ์ล่าสุด หลัง นร. 146 ชีวิต กลับบ้านไม่ได้