สส. ชูญัตติ จัดตั้ง ‘จังหวัดสว่างแดนดิน’ และ ‘จังหวัดทุ่งสง’ หวังกระจายความเจริญ
สส. พรรคพลังประชารัฐ เสนอญัตติ พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้ง ‘จังหวัดสว่างแดนดิน’ และ ‘จังหวัดทุ่งสง’ แยกออกจากสกลนคร และนครศรีธรรมราช หวังกระจายความเจริญ
เว็บไซต์รัฐสภา เผยแพร่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 โดยหนึ่งในนั้นเป็น ขอเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งจังหวัดสว่างแดนดิน และจังหวัดทุ่งสง
เหตุเพราะ ‘อำเภอสว่างแดนดิน’ จังหวัดสกลนคร และ ‘อำเภอทุ่งสง’ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรงตามหลักเกณฑ์การตั้งจังหวัดใหม่ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ทั้งยังเป็นอำเภอที่ประวัติศาสตร์ยาวนานมากมาย ซึ่งการจัดตั้งจังหวัดครั้งนี้จะช่วยกระจายความเจริญให้แก่ประชาชนมากขึ้นด้วย
เนื้อความของญัตติ ระบุว่า ด้วยอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นอำเภอที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งเมืองภูมิดลสว่าง เมืองสว่างแดนดิน เป็นเมืองที่ขึ้นกับเมืองสกลนคร ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมากมาย เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมงคล หลวงปู่คำบ่อ และปราสาทขอม บ้านพันนา เป็นต้น
นอกจากนี้ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอำเภอที่มีความเจริญเป็นอันดับสอง ของจังหวัดนครศรีธรรมราช รองจากอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภาคใต้และเป็นจุดศูนย์กลางคมนาคมทางบกทั้งรถยนต์และรถไฟ อำเภอทุ่งสงมีประวัติความเป็นมายาวนาน
ปรากฎตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่าเคยเป็นแขวง ขึ้นอยู่ในปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกต เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากมณฑล เป็นจังหวัด เมื่อ พ.ศ. 2440 ได้จัดตั้ง เป็นอำเภอทุ่งสงขึ้นกับจังหวัดนครศรีธรรมราช
แต่ปัจจุบันพบว่าทั้งอำเภอสว่างแดนดินและอำเภอทุ่งสง มีปัญหาภูมิประเทศในเรื่องระยะทาง ทำให้การติดต่อระหว่างอำเภอที่ห่างไกลและจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากเกินควร ซึ่งมีความสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การตั้งจังหวัดใหม่ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ที่ต้องพิจารณาลักษณะพิเศษของจังหวัด ผลดีในการให้บริการประชาชน และหลักเกณฑ์อื่น ๆ เช่น เหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรมของท้องถิ่นและนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น
ดังนั้นสมควรแยกอำเภอสว่างแดนดินออกจากจังหวัดสกลนครและแยกอำเภอทุ่งสงออกจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดสว่างแดนดิน และจังหวัดทุ่งสง เพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบการปกครอง การรักษาความมั่นคงและการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่
อีกทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ โดยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน การค้า การลงทุน การอุตสาหกรรม การคมนาคม การศึกษา เทคโนโลยีรวมถึงอื่น ๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ตังนั้น จึงขอเสนอญัตติตังกล่าวมาเพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งจังหวัดสว่างแดนดิน และจังหวัดทุ่งสง ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2562 ข้อ 49 ส่วนเหตุผลและรายละเอียดจะได้ชี้แจงในที่ประชุมสภาฯ ต่อไป
ภูมิศาสตร์ ‘อำเภอสว่างแดนดิน’ อดีตเคยเป็นเมือง
‘สว่างแดนดิน’ เป็นอำเภอหนึ่งแห่งจังหวัดสกลนครที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด เดิมมาจากเมืองสว่างแดนดิน ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น อำเภอสว่างแดนดิน และในปี พ.ศ. 2482 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาจากบ้านหัน มาตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 11 ตำบลสว่างแดนดิน จวบจนปัจจุบัน รหัสภูมิศาสตร์ คือ 4712 และรหัสไปรษณีย์ คือ 47110 ยกเว้นตำบลแวง ตำบลตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง ตำบลพันนา และตำบลธาตุทอง รหัสไปรษณีย์ คือ 47240
อำเภอสว่างแดนดิน มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 970.0 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ทั้งสิ้น 150,317 คน คิดเป็นความหนาแน่น 154.97 ต่อคนต่อตางรางกิโลเมตร
ภูมิศาสตร์ ‘อำเภอทุ่งสง’ มีความเจริญเป็นอันดับสอง
‘ทุ่งสง’ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด นับว่าเป็นอำเภอที่มีความเจริญเป็นอันดับสองของจังหวัดนครศรีธรรมราช รองจากอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภาคใต้และเป็นจุดศูนย์กลางคมนาคมทางบกทั้งรถยนต์และรถไฟ รหัสภูมิศาสตร์ คือ 8009 และรหัสไปรษณีย์ คือ 80110 ยกเว้นตำบลกะปาง หมู่ที่ 5, ตำบลเขาโร;หมู่ที่ 3-4 และ 11 ตำบลที่วัง ที่มีรหัสไปรษณีย์ คือ 80310
อำเภอทุ่งสง มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 919.31 ตางรางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ทั้งสิ้น 161,269 คน คิดเป็นความหนาแน่น 175.42 ต่อคนต่อตางรางกิโลเมตร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ราชกิจจาฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกา ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ พ.ศ. 2567
- ที่ประชุม ครม. อนุมัติ งบประมาณปี 68 วงเงิน 3.752 ล้านล้านบาท
- ที่ประชุม ครม. เคาะกำหนดให้การ ‘ไหว้’ เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ