นักอ่านติง ไรเตอร์สะกดผิด “กอปร” คืออะไร ใช้คำนี้ในนิยาย อ่านแล้วช็อตฟีล
นักอ่านไม่พอใจ เจอไรเตอร์สะกดผิด ใช้คำว่า กอปร เขียนนิยาย ควรเขียนใหม่ว่า ประกอบ ก่อนวิจารณ์ยับ ทำไมไม่ตรวจทานก่อนเผยแพร่ ตรวจสอบพบคำนี้มีความหมาย ใช้อย่างไร เช็กได้เลย
9 กุมภาพันธ์ 2567 กลายเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอย่างสนั่น เมื่อมีนักเขียนนิยายออนไลน์รายหนึ่งได้หยิบยกคำว่า กอปร ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่หลายคนไม่คุ้นเคยมาประพันธ์ในนิยายแชต หรือนิยายที่นำเสนอผ่านรูปแบบบทสนทนา ก่อนคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา พร้อมขอให้นักเขียนคนดังกล่าวช่วยตรวจสอบก่อนเผยแพร่ เพราะอ่านแล้วทำให้เสียอรรถรส
ประเด็นดังกล่าวเริ่มต้นขึ้น หลังจากผู้อ่าน หรือ รีดเดอร์ ได้เข้าไปคอมเมนต์ในทำนองติติงนักเขียนนิยายรายหนึ่งบนเว็บไซต์ชื่อดัง เนื่องจากการใช้คำว่า กอปร นั้นผิด ที่ถูกต้องควรเป็น ประกอบ อีกทั้งเจ้าตัวยังรู้สึกหัวเสียกับการใช้คำผิดซ้ำ ๆ หลายจุดของนักเขียน ก่อนถามตรง ๆ ว่า ไม่ได้ตรวจสอบก่อนหรืออย่างไร
“แก้คำผิดหน่อยนะคะ มันคือ ประกอบ ค่ะ ไม่ใช่ กอปร คนละคำเลยนะคะ ไม่เคยเห็นคำนี้ด้วย ไม่รู้ว่าไม่ได้ตรวจสอบดูก่อนหรอ เห็นผิดหลายจุดมาก เนื้อเรื่องกำลังสนุก พอมีคำผิดนี่อ่านแล้วหงุดหงิดค่ะ”
ต่อมา ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม X (อดีตทวิตเตอร์) ก็ได้สวนกลับคอมเมนต์ดังกล่าว ไม่รู้สึกแปลกใจ ทำไมสมัยนี้คนถึงนิยมอ่านนิยายแชต คำศัพท์ไม่ได้ พรรณนาโวหารไม่ได้ พอเจอนักเขียนใช้คำศัพท์สวย ๆ จึงต้องคอมเมนต์ถาม
“ไม่แปลกใจละ ทำไมเดี๋ยวนี้คนอ่านนิยายแชตเยอะ พรรณนาโวหารไม่ได้ คำศัพท์ไม่ได้ การตีความไม่ได้ อติพจน์ไม่ได้ พอไรท์เตอร์เขียนภาษาสวย ๆ ไปเมนต์ว่ามีคำนี้ด้วยหรอ คำนี้แปลว่าอะไร ทำไมไม่ใช้คำนี้ ครูภาษาไทย ทำอะไรอยู่ ด่วน”
จากการตรวจสอบของทีมงาน Thaiger พบว่า คำว่า กอปร (อ่านว่า กอบ) เป็นภาษาเก่า มีความหมายเหมือนกับคำว่า ประกอบ สามารถใช้เขียนแทนกันได้ ในกรณีที่นักเขียนต้องการใช้คำศัพท์ที่มีความสละสลวย แต่ความหมายยังคงเดิม เช่น ประกอบไปด้วยคุณสมบัติมากมาย หรือ กอปรด้วยคุณสมบัตินานาประการ
อ้างอิงข้อมูลจาก : มนต์รักษ์ภาษาไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- ทัวร์ลง ‘บอย ปกรณ์’ คอมเมนต์ไอจี ‘พี่จอง’ เจอติงสอนภาษาไทยผิด ๆ ให้ต่างชาติ
- คนไทยในญี่ปุ่นเล่านาที “แผ่นดินไหว” ตอนอยู่บนรถไฟ SMS เตือนภัยทันที แถมเป็นภาษาไทย
- ‘อนุทิน’ ฝากครูแก้วิกฤติภาษาไทย ย้ำต้องไม่ตกยุค ไม่กลัวเทคโนโลยี