เสียชีวิตแล้ว “เริงชัย ประภาษานนท์” ศิลปินแห่งชาติ ผู้แต่ง “อินทรีแดง”
สุดอาลัย “เริงชัย ประภาษานนท์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2562 ปูชนียบุคคล แห่งวงการบันเทิง และวรรณกรรมไทย นักเขียนผู้แต่งนิยาย ตำนานฮีโร “อินทรีแดง” เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 94 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567
อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นายโกวิท ผกามาศ เปิดเผยว่า นายเริงชัย ประภาษานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2562 ได้เสียชีวิต (ถึงแก่กรรม) อย่างสงบ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สิริอายุ 94 ปี
กำหนดการรดน้ำศพ เริงชัย ประภาษานนท์
ทั้งนี้ ทางครอบครัวแจ้งว่าจะมีกำหนดรดน้ำศพ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.00 น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ วันที่ 7 , 8 กุมภาพันธ์ เวลา 18.00 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ เวลา 19.00 น. ณ วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต ศาลา 2 ซอย วัชรพล ถนนรามอินทรา แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และกำหนดการพิธีฌาปนกิจ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.00 น.
อธิบดีสวธ. เปิดเผยอีกว่า นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม มอบหมายให้กองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม โดยกลุ่มสวัสดิการศิลปินแห่งชาติฯ ดำเนินการจัดสวัสดิการช่วยเหลือ ดังนี้
มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท ค่าเครื่องเคารพศพ 3,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ด้วย
คําประกาศเกียรติคุณ-ประวัติ “นายเริงชัย ประภาษานนท์”
สำหรับประวัติของ นายเริงชัย ประภาษานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2562 เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ที่อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ขณะศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนันทนศึกษา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2487 โรงเรียนปิดลง เริงชัยออกมาทำงานที่โรงไฟฟ้าสามเสน เมื่อโรงไฟฟ้าถูกระเบิดทำลาย ได้งานทำใหม่เป็น ช่างเรียงพิมพ์ และเริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “พรหมบันดาล” ตีพิมพ์ในนิตยสาร “รัตนโกสินทร์” ใช้นามปากกา “สุริยา”
ต่อมาเขียนนวนิยายแนวบู๊ใช้นามปากกา “เศก ดุสิต” เรื่อง “สี่คิงส์” และ “ครุฑดำ” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อักษรสมิต ตามมาด้วยเรื่องในชุด “อินทรีแดง” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น มีชื่อเสียงเป็นที่นิยม จนต้องนำตัวละครจากทั้ง ๒ เรื่อง คือ “คมน์ พยัคฆราช” และ “โรม ฤทธิไกร” มามีบทบาทร่วมกันในเรื่อง “จ้าวนักเลง”
จากนั้นเรื่อง “พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ” ตีพิมพ์ในนิตยสารอาทิตย์รายสัปดาห์ของสำนักพิมพ์อักษรโสภณ เริงชัยใช้นามปากกา เศก ดุสิต, เกศ โกญจนาศ, ศิรษา, ดุสิตา, สุริยา และลุงเฉื่อย
ในสมัยสื่อสิ่งพิมพ์ เฟื่องฟู ผลงานของเริงชัยเป็นที่ต้องการของหนังสือต่าง ๆ ในสัปดาห์หนึ่งจึงต้องเขียนนวนิยายส่งนิตยสารถึง 5 เล่ม ผลงานมีทั้งหมดกว่า 50 เล่ม ส่วนใหญ่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เริงชัยได้รับรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2552 ผลงานชุด “อินทรีแดง” เป็นหมุดหมายของอาชญนิยายไทย
เริงชัยสามารถสร้างตัวละคร “อินทรีแดง” ให้เป็นบุคคลในอุดมคติเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเยียวยาจิตใจของผู้คนในสังคมให้มีพลังและแกร่งกล้า เพื่อต่อสู้กับอำนาจ ความชั่วร้าย อินทรีแดงเป็นวีรบุรุษในหัวใจนักอ่าน เป็นคนดี คนเก่งที่ช่วยแก้ปัญหา ไม่เพียงแต่ในสังคมเล็ก ๆ หรือ ชุมชน หากหมายรวมถึงปัญหาของบ้านเมืองด้วย
เป็นตัวแทนของคนไทยในการปราบปรามความชั่วร้ายในสังคม ผลงานของเริงชัยมีพลังทางวรรณศิลป์ ผ่านโครงสร้างนวนิยายอันซับซ้อน และด้วยภาษาอันทรงประสิทธิภาพ ผลงานจึงได้รับความนิยม และยืนยงข้ามกาลเวลา อยู่ในความทรงจำของนักอ่านมาทุกยุคทุกสมัย นายเริงชัย ประภาษานนท์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2562
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง : เฟสบุ๊ก หนังโทคุอนิเมะและเรื่องบันเทิง, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม