ข่าว

“เบ๊น อาปาเช่” เตือน มิจฉาชีพปลอมเป็นพ่อค้า ทักมาหลังจบไลฟ์ หวิดเสียเงินแสน

เบ๊น อาปาเช่ โพสต์เฟซบุ๊กเตือนภัย มิจฉาชีพแบบใหม่ ปลอมโปรไฟล์เป็นพ่อค้า ทักมาหลังจบไลฟ์ประมูลของมูลค่า 2 แสนบาท โชคดีพี่สาวและคนขายรู้จักกัน ตามกลลวงไม่ทัน มีเงินปลิวฟรี

ประชาชนระมัดระวังตัวและรู้เท่าทันมากเท่าไร มิจฉาชีพก็ยิ่งปรับกลโกงรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับกรณีของอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังเบ๊น อาปาเช่ หรือ อัครเดช โยธาจันทร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Benz Apache – เบ๊น อาปาเช่ เตือนให้ระวังมิจฉาชีพที่สวมรอยเป็นพ่อค้า

Advertisements

เบ๊น อาปาเช่เล่าว่า เหตุการณ์นี้เขาและพี่สาวเจอมากับตัว มิจฉาชีพรายนี้ ปลอมเป็นพ่อค้า ทักมาหลังพี่สาวประมูลพระเครื่องได้ โดยปลอมชื่อเฟซบุ๊ก และรูปโปรไฟล์เหมือนร้านประมูลทุกอย่าง โชคดีที่พี่สาวและเซียนพระรู้จักกันจึงไม่หลงกล โดยระบุว่า

“เมื่อวานนั่งอยู่กับพี่สาวของผมที่บ้าน แล้วพี่สาวผมคนนี้ก็นั่งดูไลฟ์สดประมูลพระเครื่อง สมมติชื่อ “เซียนเอ พระเครื่อง” ก็เสนอใส่ราคากันไป

จนกระทั่งพี่สาวผมสู้ไปเรื่อย ๆ จบที่ 200,000 บาท พี่เซียนเอ พระเครื่อง ก็ประกาศในไลฟ์ว่า ผู้ที่ปิดพระได้ไปคือพี่สาวผมคนนี้ พอประกาศจบปุ๊บ ก็มีเฟซบุคชื่อ “เซียนเอ พระเครื่อง” รูป profile เหมือนกันเป๊ะ ทักมาตอนนั้นทันที หลังจากประกาศไม่ถึง 30 วิ ทักมาว่า “ยินดีด้วยนะครับพี่ องค์นี้ราคาดีมาก โอนเลขที่บัญชีนี้นะครับ”

เชรี้ยยยย สรุปคือเฟซที่ทักมาคือเฟซปลอม เป็นมิจฉาชีพที่เฝ้าไลฟ์สดนั้นอยู่เหมือนกัน แต่โชคดีที่พี่สาวผมกับเซียนพระท่านนี้รู้จักกัน รู้ชื่อบัญชีกัน และเคยมีประวัติคุยแชทกัน เลยรู้ว่าที่ทักมานี่ เฟซปลอม

โอ้โห ผมถึงเข้าใจว่าทำไมคนแม่งโดนหลอกกันเยอะ คือถ้าเป็นผมผมอาจจะพลาดเชื่อเหมือนกันนะ เพราะมันชื่อเฟซ รูป เหมือนเป๊ะ แล้วทักมาใน 30 วินาที คือถ้าไปเจอคนที่ไม่ค่อยชินเรื่องโซเชียล หรือตามไม่ทันนี่ เงินปลิว ฟรี ๆ แน่นอน เลยมาขอเล่าเป็นอุทาหรณ์นะครับ ระวังกันด้วยน๊า”

Advertisements
เบ๊น อาปาเซ่
ภาพจาก Facebook : Benz Apache – เบ๊น อาปาเช่

หลังจากโพสต์ถูกเผยแพร่ ชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก บางส่วนบอกว่า กรณีแบบนี้มีทุกวงการ มิจฉาชีพจะทักหาเหยื่ออย่างรวดเร็ว และไม่ใช่แค่เงินมูลค่าหลักแสนบาทเท่านั้น หลักร้อยก็ยังเคยถูกหลอกมาแล้ว

ด้านชาวเน็ตบางส่วนบอกว่า วิธีแก้ไม่ให้ถูกโกงคือ ต้องตรวจสอบชื่อบัญชีของผู้รับโอนให้ดีก่อน อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตบางส่วนมองว่า กลโกงของมิจฉาชีพเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งยังมีคนโดนโกงแทบทุกชั่วโมง เพราะมิจฉาชีพใช้วิธีแบบนี้ แม้จะจับตัวได้ก็ไกล่เกลี่ยแล้วไปหลอกลวงเหยื่อรายอื่น ๆ ต่อ เพราะกฎหมายไม่เข้มแข็งพอที่จะปราบปรามให้หมดไป

ปัจจุบันจะเห็นว่า หน่วยงานรัฐออกมาประกาศเรื่องกลโกงของมิจฉาชีพ ทั้งคอลเซ็นเตอร์ หรือปลอมแปลงโปรไฟล์ในออนไลน์ แต่ถึงกระนั้นมิจฉาชีพก็ยังคงหลอกเงินประชาชน และมีกลลวงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button