อ.เจษฎา เผย “แสงประหลาด” บนท้องฟ้า แท้จริงไม่ใช่ซานต้า หรือมนุษย์ต่างดาว
อ.เจษฎา เผยข้อมูล หลังผู้คนพบ แสงประหลาดบนท้องฟ้า ในหลายจังหวัด คาดเป็นแสงยิงจรวดจากจีน ต้องรอยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากกระแสฮือฮาบนโลกออนไลน์ เมื่อเพจเฟซบุ๊ก อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 6 ได้แชร์คลิปวิดีโอ ปรากฏเป็นแสงไฟประหลาดสว่างวาบอยู่บนท้องฟ้าอันมืดมิด โดยระบุแคปชันว่า “พี่น้องครับมันคืออะไรครับ หรือจะเป็นซานต้าเพิ่งกลับจากการแจกของขวัญหรือ มาเวอริคหาบินทดสอบที่ไทย..ขอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วย เห็นกับตาตัวเอง ตี 5.43 นาที ช่วยกันแชร์ ครับ ไม่รู้แสงอะไร”
หลังจากโพสต์ถูกเผยแพร่ ชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย บางเดาว่าอาจเป็นมนุษย์ต่างดาว บ้างก็คิดว่าเป็นเครื่องบินหรือจรวด ต่อมา ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โพสต์ถึงกรณีนี้ว่า แสงประหลาดที่ปรากฏในคลิป น่าจะเป็นแค่แสงจากการยิงจรวด
อ.เจษฎาระบุว่า ภายในคลิปวิดีโอมีเสียงบรรยายว่า ถ่ายจากบ้านพนอม น่าจะหมายถึง บ้านพนอม ตำบลพนอม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม แสงไฟขึ้นไปเป็นลำแสงสีส้มจากริมฝั่งโขง ฝั่งประเทศลาว แล้วก็กระจายหายไป
ถ้าดูจากลักษณะของการเคลื่อนที่ แนวลำแสงแต่ละช่วง ๆ จะพบว่า คล้ายกับ “การส่งจรวด” มากที่สุด โดยจะเป็นจรวดแบบมีเชื้อเพลิงขับดันหลายท่อน เห็นการแยกตัวของท่อนบนออกจากท่อนล่าง แล้วท่อนบนก็เกิดการจุดระเบิดพุ่งตัวออกไป
คลิปดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้ว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่เท่าไหร่กันแน่ เป็นคลิปใหม่ หรือคลิปเก่าที่เอามาโพสต์กันใหม่ก็ยังไม่ชัดเจน แต่ถ้าดูข่าวช่วงนี้ จะพบว่าทางประเทศจีนมีการยิงจรวดส่งดาวเทียมพยากรณ์อากาศดวงใหม่ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566
อ.เจษฎา ได้เล่าถึงข่าวการส่งออกดาวเทียมจีน ระบุว่า “สำนักข่าวซีซีทีวีของจีนรายงาน จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมพยากรณ์ชุดใหม่ 4 ดวง ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดขนส่ง ไคว่โจว-1เอ (Kuaizhou-1A) จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียน (Jiuquan) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ในวันนี้ เวลา 09.00 น. ตามเวลาในกรุงปักกิ่ง ของจีน
ดาวเทียม 4 ดวง เป็นดาวเทียมหมายเลข 11-14 ของกลุ่มดาวเทียมพยากรณ์อากาศ เทียนมู่-1 ได้เข้าสู่วงโคจรตามแผนแล้ว ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของภารกิจครั้งนี้ ทางการจีนจะใช้ดาวเทียมพยากรณ์อากาศนี้ เพื่อให้บริการข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเชิงพาณิชย์เป็นหลัก และนับเป็นภารกิจการบินครั้งที่ 23 ของจรวดขนส่งเชิงพาณิชย์ด้วย
จรวดขนส่งดาวเทียมไคว่โจว-1 เอ เป็นจรวดขนส่งเชื้อเพลิงแข็งขนาดเล็ก พัฒนาโดยองค์การจีนอวกาศเพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คอร์ปอเรชัน (CASC) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักสำหรับโครงการอวกาศจีน
จากข่าวดังกล่าว อ.เจษฎาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุดที่ยังแตกต่างจากคลิปที่แชร์กัน คือช่วงเวลาที่ส่งจรวดขึ้นไป ประมาณ 9 โมงเช้าที่ประเทศจีน คือประมาณ 8 โมงเช้าที่ประเทศไทย ไม่ใช่ช่วงตี 5 หรือ 6 โมงเช้าแบบในคลิประบุ
เพื่อความถูกต้องอาจจะต้องรอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร. หรือ NARIT) หรือ สมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย ตรวจสอบว่า มีการยิงปล่อยจรวดขึ้นไปในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ ในทิศทางนี้หรือไม่
เมื่อปีก่อน เคยมีข่าวทำนองคล้ายคลึงกันนี้ เรื่องของการเห็นแสงประหลาดบนท้องฟ้าแถวประเทศเมียนมา สุดท้ายพบว่า เป็นการทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ของประเทศอินเดีย ซึ่งมีแสงคล้ายคลึงกับสิ่งที่เห็นนี้ด้วย แต่ช่วงนี้ไม่มีข่าวการทดสอบจรวดของอินเดีย และคลิปดังกล่าวระบุว่ามาจากฝั่งไทย-ลาว ดังนั้นจึงไม่น่าใช่จรวดของอินเดีย
สรุปว่าขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า แสงประหลาดที่ปรากฏในจังหวัดนครพนมหรือพื้นที่อื่น ๆ คือสิ่งใดกันแน่ แต่คาดว่าเป็นจรวดจากประเทศจีน ทั้งนี้ ต้องรอข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อไป