ข่าวข่าวอาชญากรรม

ดีเอสไอพบ 2 โครงการ คดีฮั้วประมูลบริษัทกำนันนก ส่อไม่ชอบมาพากล

ดีเอสไอ เผยความคืบหน้าคดีฮั้วประมูลบริษัทรับเหมาก่อสร้างกำนันนก ป.พัฒนารุ่งโรจน์ และ ป.รวีกนก สอบโครงการใหญ่ มูลค่ากว่า 30 ล้าน พบ 2 โครงการส่อไม่ชอบมาพากล

วันนี้ (11 ก.ย.) ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ “กองคดีฮั้วประมูล” กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยกรณีการตรวจสอบบริษัท 2 แห่งของ “กำนันนก” หรือ นายประวีณ จันทร์คล้าย อาจเข้าข่ายฮั้วประมูลโครงการของรัฐ

โดยเบื้องต้นพบว่ากำนันนก ผู้ต้องหาคดีสังหารสารวัตรทางหลวง ฐาน “ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่า” มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท 2 แห่ง คือ

  1. ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด เป็นบริษัทของนายประโยชน์ จันทร์คล้าย หรือ ผู้ใหญ่โยชน์ (บิดา) อยู่ระหว่างเตรียมทำการโอนย้ายมาให้บุตรชาย
  2. ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด เป็นบริษัท “กำนันนก” ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าของกิจการเอง ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย รวมถึงประกอบการรับเหมาก่อสร้างผลิตและจำหน่ายยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต

อีกทั้งพบว่า งบการเงินรอบปี 2565 มีรายได้ถึง 746.4 ล้านบาท กำไรสุทธิรวมประมาณ 5.3 ล้านบาท กำไรสะสมรวม 147.9 ล้านบาท โดยห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานข้อมูลที่ตรวจสอบพบไปยัง พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ และอธิบดีได้สั่งการมอบหมายให้ดำเนินการตั้งเลขสืบสวน เพื่อค้นหา รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม

สำหรับประวัติการประมูลงานในโครงการต่างๆ ของบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด พบว่า ระหว่างห้วงปี 2554-2566 มีทั้งหมด 919 โครงการ และมีโครงการที่เข้าเสนอราคา 131 โครงการ

ส่วนโครงการที่ได้งานมีทั้งหมด 788 โครงการ วงเงินสัญญาที่ได้งาน คือ 4,564,157,577.44 บาท ดังนี้

  • ปี 2554 จำนวน 26 โครงการ
  • ปี 2555 จำนวน 57 โครงการ
  • ปี 2556 จำนวน 63 โครงการ
  • ปี 2557 จำนวน 37 โครงการ
  • ปี 2558 จำนวน 77 โครงการ
  • ปี 2559 จำนวน 145 โครงการ
  • ปี 2560 จำนวน 83 โครงการ
  • ปี 2561 จำนวน 49 โครงการ
  • ปี 2562 จำนวน 49 โครงการ
  • ปี 2563 จำนวน 98 โครงการ
  • ปี 2564 จำนวน 61 โครงการ
  • ปี 2565 จำนวน 34 โครงการ
  • ปี 2566 จำนวน 9 โครงการ

ส่วนประวัติการประมูลงานในโครงการต่างๆ ของบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด พบระหว่างปี 2557-2566 มีทั้งหมด 619 โครงการ และมีโครงการที่เข้าเสนอราคา 96 โครงการ

ส่วนโครงการที่ได้งานมีทั้งหมด 523 โครงการ วงเงินสัญญาที่ได้งาน คือ 1,089,281,511.00 บาท ดังนี้

  • ปี 2557 จำนวน 1 โครงการ
  • ปี 2558 จำนวน 80 โครงการ
  • ปี 2559 จำนวน 8 โครงการ
  • ปี 2560 จำนวน 30 โครงการ
  • ปี 2561 จำนวน 72 โครงการ
  • ปี 2562 จำนวน 96 โครงการ
  • ปี 2563 จำนวน 88 โครงการ
  • ปี 2564 จำนวน 76 โครงการ
  • ปี 2565 จำนวน 50 โครงการ
  • ปี 2566 จำนวน 22 โครงการ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลของทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว พบว่า มีการทำโครงการจำนวนมาก แต่ดีเอสไอมุ่งเน้นไปที่โครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 โครงการ ซึ่งเป็นของ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด ที่เข้าข่ายมีพฤติการณ์การเสนอราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แบบผิดปกติ

คือ การประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว – บรรจบทางหลวงหมาย 346 ซึ่งเป็นของปีงบประมาณ 2564 ด้วยการตั้งงบประมาณอยู่ที่ 350,000,000 บาท ขณะที่ราคากลางอยู่ที่ 349,996,811 บาท แต่ประมูล e-bidding ได้ไป 240,000,789 บาท ต่ำกว่าราคากลางเพียง 31%

นอกจากนี้ ในวันที่มีการประกาศโครงการ วันที่ 8 เม.ย. 64 มีรายชื่อผู้ขอรับ/ซื้อเอกสาร (หรือเรียกว่าการซื้อซอง) จำนวน 32 บริษัท ขณะที่วันเคาะราคา หรือวันประมูล e-bidding วันที่ 17 พ.ค. 64 ปรากฏเหลือชื่อรายชื่อผู้ยื่นเอกสารเพียงแค่ 3 บริษัท หนึ่งในนั้น คือ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด

ส่วนอีกโครงการ คือ การประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม – ต.ลำลูกบัว ซึ่งเป็นของปีงบประมาณ 2560 ด้วยงบประมาณ 300,000,000 บาท ขณะที่ราคากลางไม่มีการระบุจำนวน (บาท) แต่มีวงเงินสัญญา 298,399,900 บาท ห่างงบประมาณไม่มาก

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ พบว่าในวันที่มีการประกาศโครงการ 6 พ.ย. 60 มีรายชื่อผู้ขอรับ/ซื้อเอกสาร (หรือเรียกว่าการซื้อซอง) ในห้วงปี 59 จำนวน 33 บริษัท ขณะที่วันเคาะราคา วันที่ 30 ก.ย.59 ปรากฏเหลือชื่อรายชื่อผู้ยื่นเอกสารเพียงแค่ 4 บริษัท โดยหนึ่งในนั้น คือ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการใต้สังกัดกรมทางหลวง

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ทางดีเอสไอจะไปตรวจสอบว่าทั้ง 2 โครงการ ที่บริษัทดังกล่าวประมูลได้มา มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูลอย่างไรบ้างหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีการฮั้วประมูลจริง จะต้องไปดูต่อว่ามีพฤติการณ์สมยอมราคากันอย่างไร ได้งานโครงการมาด้วยวิธีการใด เป็นต้น.

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button