วิธีกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่ถูกต้อง กาแบบไหนไม่นับเป็นบัตรเสีย : เลือกตั้ง 2566
เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้นก็จะถึง วันเลือกตั้ง 2566 ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ในวันนี้ The Thaiger จะพาทุกคนมาดู วิธีกาบัตรเลือกตั้ง ทั้งของ ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เตรียมตัวให้ชัวร์ก่อนเข้าคูหา กาอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นบัตรเสีย จะมีวิธีอะไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้วมาดูไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
วิธีกาบัตรเลือกตั้ง 2566 มี 2 ใบ กายังไง
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แนะนำข้อมูล ‘วิธีกาบัตรเลือกตั้ง’ อย่างชัดเจน โดยส่วนแรกผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องกาเครื่องหมาย x ลงในบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง บัตรสีเขียว และบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ บัตรสีม่วง โดยวิธีการกาบัตรเลือกตั้ง มีทั้งหมด 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
- หากต้องการเลือกผู้สมัครใด หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง “ทำเครื่องหมาย” เพียงหมายเลขเดียว
- หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาทที่ “ช่องไม่เลือกผู้สมัครใด”
- หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ประสงค์เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาทที่ “ช่องไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”
กาบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
จะต้องกาหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. เขตที่ท่านมีชื่อทะเบียนบ้านในบัตรสีม่วง บัตรจะมีแค่ตัวเลขไม่มีชื่อพรรคหรือชื่อผู้สมัคร ต้องจดจำเลขให้ดี แต่ละเขตแม้พรรคเดียวกัน เบอร์ก็ต่างกัน
กาบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
บัตรเลือกตั้งแบบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จะเป็นสีเขียว ในบัตรจะดีหน่อยตรงที่ระบุชื่อพรรคการเมืองและโลโก้มาด้วย ให้เรากาหมายเลขพรรคที่ต้องการ แบบนี้จะหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ
ลักษณะของบัตรดี ต้องเป็นอย่างไร
สำหรับบัตรเลือกตั้งที่มีการลงคะแนนแล้วเป็นบัตรดี มีองค์ประกอบดังนี้
- ต้องมีเครื่องหมายในการลงคะแนน
- เครื่องหมายต้องเป็นเครื่องหมายกากบาทเท่านั้น
- เครื่องหมายกากบาท จะต้องอยู่ในช่องทำเครื่องหมายและต้องมีเครื่องหมายเดียวเท่านั้น
- ลักษณะบัตรที่ดี จะต้องเป็นบัตรที่นับคะแนนเของ “ผู้สมัคร” หรือ “พรรคการเมือง” ผ่านการทำเครื่องหมายลงคะแนนเลือกตั้งในช่อง “หมายเลขของผู้สมัคร” หรือ “หมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง”
- นอกจากนี้ บัตรที่ดีจะต้องผ่านการทำเครื่องหมายลงคะแนนเลือกตั้งในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”
ลักษณะของบัตรเสีย ต้องเป็นอย่างไร
สำหรับบัตรเลือกตั้งที่มีการลงคะแนนไม่เป็นไปตามคุณสมบัติของบัตรดี และไม่ให้นับเป็นคะแนนเลือกตั้ง มีดังนี้
- บัตรปลอม
- บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใด ๆ ลงในบัตรเลือกตั้งนอกจากเครื่องหมายในการลงคะแนน (เว้นแต่ เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง)
- บัตรที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
- บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเกินหนึ่งหมายเลข
- บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด (เว้นแต่เป็นการทำเครื่องหมายในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”)
- บัตรที่ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากเครื่องหมายกากบาท
- บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครแล้วทำเครื่องหมายในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร
- บัตรที่ทำเครื่องหมายในช่องไม่มีผู้สมัครหรือผู้สมัครถูกถอนชื่อออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร
- บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้กับผู้สมัครในช่องทำเครื่องหมายเกินกว่าหนึ่งเครื่องหมาย
- บัตรที่มิใช่บัตรซึ่งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบให้
- บัตรเสียมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และแก้ไขเพิ่มเติม
- บัตรเลือกตั้งที่มิใช่ของเขตเลือกตั้งที่ดำเนินการนับคะแนน
สรุปวิธีกาบัตรเลือกตั้งที่ถูกต้อง
หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าวิธีการกาบัตรเลือกตั้งที่ถูกต้องจะต้องกาแบบใด โดยการกาบัตรเลือกตั้ง 2566 จะต้องทำเครื่องหมายกากบาทลงในพื้นที่ช่อง “หมายเลขของผู้สมัคร” หรือ “หมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง” เท่านั้น เพื่อให้คะแนนเสียงของท่านถูกนับเป็น “บัตรดี”
ขณะเดียวกัน หากท่านทำเครื่องหมายกากบาท แต่เครื่องหมายนั้นเป็นการทำเส้นประ, ทำรูปหัวใจ, ติ๊กถูก, เขียนข้อความ เช่น เลือกเบอร์ 0 หรือ รักเบอร์ 0 เป็นต้น รวมถึงการเขียนเครื่องหมายกากบาทเกินพื้นที่ช่องลงคะแนนเสียง บัตรเลือกตั้งของท่านจะถูกนับเป็น “บัตรเสีย” ทันที
สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่กำลังจะถึงนี้ ขอให้ทุกคนเตรียมพร้อมและอย่าลืมเช็กรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการกาบัตรเลือกตั้งโดยละเอียด โดยบัตรเลือกตั้งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง บัตรสีเขียว และบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ บัตรสีม่วง พร้อมกาเครื่องหมายกากบาทลงในช่องทำเครื่องหมายเพียงเลขเดียวเท่านั้น ไม่อย่างนั้นเสียงของท่านอาจจะกลายเป็นบัตรเสียแทนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก – ไทยโหวต