เปิดจดหมายเต็ม ไทยส่งถึงสหประชาชาติ ยันเขมรเริ่มก่อน-ทำร้ายพลเรือน แอบวางกับระเบิด

เปิดจดหมายชี้แจงถึง UN ฉบับเต็ม ทางการไทย ยืนยันกัมพูชาเปิดฉากโจมตีไทยก่อน รวมถึงโจมตีพลเรือนและโรงพยาบาลใน 4 จังหวัดชายแดน ซึ่งเข้าข่าย อาชญากรรมสงคราม และละเมิดกฎหมาย UN และเจนีวา
25 กรกฎาคม 2568 – จากสถานการณ์ความรุนแรงบริเวณพื้นที่ชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ทางการไทยได้ยื่นหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการไปยังคณะทูตถาวรและผู้แทนสังเกตการณ์ของประเทศต่างๆ ณ สหประชาชาติ (UN) เพื่อแจ้งให้ประชาคมโลกได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงของสถานการณ์ โดยมีสาระสำคัญคือการยืนยันว่า ฝ่ายกัมพูชาเป็นผู้เปิดฉากการโจมตีก่อน และได้กระทำการที่เข้าข่าย “อาชญากรรมสงคราม” ด้วยการมุ่งเป้าโจมตีพลเรือนและโรงพยาบาล โดย นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ เป็นผู้แปลและเรียงภาษาไทย
เนื้อหาในจดหมายระบุว่า “1. ประเด็น “กับระเบิด” ที่กัมพูชาวางใหม่: ไทยเริ่มด้วยการบอกว่า เมื่อวันที่ 16 และ 23 กรกฎาคม ทหารไทยได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเหยียบกับระเบิดชนิด PMN-2 ในเขตแดนไทย ซึ่งระเบิดเหล่านี้เป็นกับระเบิดที่เพิ่งถูกนำมาวางใหม่ ทั้ง ๆ ที่ไทยเคยรายงานเรื่องการทำลายกับระเบิดต่ออนุสัญญาห้ามกับระเบิดแล้ว และกัมพูชาเองก็เคยประกาศว่าทำลายกับระเบิดเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี 2546 และใช้กับระเบิดที่เหลือแค่เพื่อการฝึกเท่านั้น แต่รายงานล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2567 กลับระบุว่ากัมพูชายังคงมีกับระเบิดชนิด PMN-2 อยู่ การที่กัมพูชายังมีและมีการวางใหม่ ทำให้ไทยมองว่าไม่เป็นไปตามข้อตกลง
2. กัมพูชาเปิดฉากยิงก่อนและโจมตีพลเรือน: จุดสำคัญที่สุดในจดหมายคือ ไทยยืนยันว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม เวลา 08.20 น. ทหารกัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงใส่ฐานทัพไทยที่ตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ก่อน ทำให้ทหารไทยบาดเจ็บทันที 2 นาย จากนั้น ทหารกัมพูชาได้โจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมายใส่พลเรือนและสิ่งปลูกสร้างของประชาชนใน 4 จังหวัดชายแดน คือ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตพลเรือน ทั้งผู้หญิงและเด็ก มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 24 ราย (สาหัส 8 ราย) และยังทำลายโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน เช่น โรงพยาบาล ด้วย ทำให้ประชาชนมากกว่า 102,000 คน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน

3. ไทยอ้างสิทธิ์ “ป้องกันตัวเอง” และกัมพูชาละเมิดกฎหมาย UN: ไทยชี้แจงว่า การโจมตีของกัมพูชาเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 2(4) ที่ห้ามการคุกคามหรือใช้กำลังกับอธิปไตยของประเทศอื่น และเป็นการละเมิดหลักการเพื่อนบ้านที่ดี ไทยยืนยันว่าได้ใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด และการที่ไทยใช้มาตรการตอบโต้ทางทหารก็เป็นเพียงการ “ป้องกันตัวเอง” ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 51 โดยเน้นว่าการตอบโต้ของไทยมีขอบเขตจำกัด และทำไปเพื่อหยุดยั้งอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นเท่านั้น
4. การประณามการโจมตีพลเรือนและโรงพยาบาล: ไทยประณามอย่างรุนแรงต่อการที่กัมพูชาโจมตีพลเรือน สิ่งปลูกสร้างของพลเรือน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาล ซึ่งไทยชี้ว่าเป็นการ ละเมิดอนุสัญญาเจนีวาปี 1949 อย่างร้ายแรง โดยเฉพาะมาตรา 18 ที่คุ้มครองโรงพยาบาล และมาตรา 19 ที่คุ้มครองผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ การกระทำที่ไร้มนุษยธรรมนี้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่พลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างมาก
5. ไทยยังคงต้องการแก้ปัญหาอย่างสันติ: ท้ายที่สุด ไทยยืนยันว่ายังคงยึดมั่นในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทอย่างสันติ และเรียกร้องให้กัมพูชาหยุดการสู้รบและกลับสู่การพูดคุยเจรจาโดยทันที ไทยยังยืนยันความพร้อมที่จะเข้าร่วมกลไกการเจรจาทวิภาคีที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission) ที่มีกำหนดประชุมในต้นเดือน กันยายน 2568 เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งที่ยังค้างคา”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สหรัฐฯ กังวลปมปะทะ ชายแดนไทย-กัมพูชา เรียกร้องยุติโจมตี ปกป้องพลเรือน
- กระสุน BM-21 ถล่มบ้านเรือน ปชช.อุบลฯ พังเสียหาย 3 จุด เบื้องต้นไร้เจ็บ
- กองทัพไทย ประณามกัมพูชา ไม่เคารพชีวิตเพื่อนมนุษย์ เชื่อ ฮุน เซน อยู่เบื้องหลัง
ติดตาม The Thaiger บน Google News: