ข่าว

เปิดวิธีรับมือ ‘น้ำท่วม’ เตรียมตัวอย่างไร ให้ดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดวิธีเตรียมพร้อมรับมือ ‘สถานการณ์น้ำท่วม’ ต้องปฏิบัติอย่างไรให้ดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด สิ่งสำคัญคือการติดตามข่าวสาร

แม้จะล่วงเลยเข้าสู่ปลายฤดูฝนเต็มทีแล้ว แต่ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดจากสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง และเตรียมตัวรับมือให้พร้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากในระยะนี้ ลมฝ่ายตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

Advertisements

ในขณะเดียวกัน ร่องมรสุมได้พาดผ่านภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มต่ำ

ล่าสุด (10 ตุลาคม 2567) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM จึงได้เผย วิธีเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยวิธีปฏิบัติตัวเป็นดังนี้

1. การหมั่นติดตามข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำในพื้นที่อยู่เสมอ

2. จัดเตรียมสิ่งของและเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

3. ป้องกันน้ำท่วมบ้าน ด้วยการกำจัดขยะ วัชพืช และสิ่งกีดขวาง ทางน้ำไม่ให้อุดตันท่อน้ำ ทางระบายน้ำ

Advertisements

4. ขนย้ายสิ่งของและเครื่องใช้ขึ้นที่สูงให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว

5. หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วมสูงและกระแสน้ำไหลเชี่ยว

นอกจากนี้ เมื่อมีประกาศแจ้งให้อพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วม ควรอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัยทันที ตลอดจนไม่ควรขับรถผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วมสูงหรือกระแสน้ำไหลเชี่ยว เพราะรถอาจถูกพัดออกนอกเส้นทาง

ปภ. แนะนำ เตรียมตัวรับมือน้ำท่วม
ภาพจาก : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM

หากอพยพหนี ‘น้ำท่วม’ ไม่ทัน ควรทำอย่างไร?

เมื่อเกิดน้ำท่วมบ้านเรือน ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะนำให้ปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้

1. ขนย้ายสิ่งของและเครื่องใช้ขึ้นที่สูง โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งของมีค่าให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง

2. อพยพสัตว์เลี้ยงและเคลื่อนย้ายยานพาหนะไปไว้ในที่ปลอดภัย

3. ตัดกระแสไฟฟ้า ปิดสวิตช์ไฟ สับคัตเอาต์ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว

4. ไม่ใช้และสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะร่างกายเปียกชื้นหรือยืนบริเวณพื้นที่ชื้นแฉะ เพราะจะทำให้ถูกไฟดูด

5. หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วมสูงและกระแสน้ำไหลเชี่ยว เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดทำให้จมน้ำเสียชีวิต

6. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำในช่วงเวลากลางคืน เพราะเสี่ยงต่อการพลัดตกน้ำ

หากมีการประกาศแจ้งให้อพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วม ควรอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัยทันที โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและให้ความช่วยเหลือเด็กและคนชราก่อน และไม่อพยพไปตามเส้นทางไหลของน้ำ เพราะอาจจะถูกน้ำพัดได้รับอันตรายได้ ตลอดจนไม่ควรขับรถผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วมสูงหรือกระแสน้ำไหลเชี่ยว เพราะรถอาจถูกพัดออกนอกเส้นทาง ทำให้รถจมน้ำ ก่อให้เกิดอันตรายได้

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button