สาวพลาดงานในฝัน เพราะลาออกกะทันหัน นายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน งง ทำได้เหรอ
วันนี้ 29 สิงหาคม กลุ่มเฟซบุ๊ก JobThai Official Group มีสมาชิกมาโพสต์ขอคำปรึกษา หลังจากนายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน อ้างเหตุลางานกะทันหัน เพื่อไปเริ่มงานใหม่ ทำให้ตนเองต้องพลาดโอกาสงานใหม่ที่อยากได้ เพราะติดปัญหาเรื่องเงิน
หญิงสาวเล่าว่า “หนูแจ้งลาออกจากที่ทำงานเก่าแบบกะทันหัน เพราะพึ่งได้งานใหม่แล้วเขาจะให้เริ่มเลย แต่ที่ทำงานแจ้งว่าถ้าทำไม่ถึงสิ้นเดือน เงินเดือนล่าสุดจะไม่ได้ หนูเลยต้องยอมทิ้งงานใหม่ไป เพื่อรอเอาเงินตรงนี้ก่อน ตอนนี้รู้สึกเคว้งมากๆ เพราะหนูอยากได้งานใหม่ตรงนั้นมาก แต่ทำไม่ได้ ตอนนี้ไม่มีงานรองรับเลยค่ะ”
ต่อมาคอมเมนต์ส่วนใหญ่แนะนำให้ผู้เสียหายไปร้องเรียนที่กรมแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือและเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายแรงงาน นายจ้างไม่สามารถอ้างเหตุไม่จ่ายแรงงานลูกจ้างได้ และกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องแจ้งลาออกล่วงหน้า หากแสดงเจตจำนงแล้วย่อมมีผลทันที ไม่ว่านายจ้างจะยอมหรือไม่ก็ตาม
ต่อมาเจ้าของโพสต์ได้เข้ามาอธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ปรึกษากับคนในครอบครัวมา ด้วยความที่ตนเองยังไม่กล้าตัดสินใจอะไร ด้วยตัวเอง ถ้าออกมาเลยโดยที่ยังไม่มีเงิน ที่บ้านไม่มี เงินซัพพอร์ตในตอนไปเริ่มงานที่ใหม่ เลยจำใจต้องอยู่ ต่อเพื่อรับเงินตรงนี้ ยิ่งทำให้ชาวเน็ตแสดงความสงสารเป็นจำนวนมาก
ปัญหาลูกจ้างถูกนายจ้างเบี้ยวค่าแรงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งแรงงานและเศรษฐกิจโดยรวม รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเป็นธรรมและความมั่นคงให้กับแรงงานไทยทุกคน
ลูกจ้างลาออกต้องแจ้งล่วงหน้า อย่างน้อย 30 วันหรือไม่
ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เคยออกมาชี้แจงว่า ตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ลูกจ้างลาออกต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ถ้าไม่บอกกล่าวก่อน ออกไปทันทีไม่ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติ ก็ทำได้ แต่หากเกิดความเสียหาย นายจ้างสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้
กรณีสัญญาจ้างระบุวันสิ้นสุดลงชัดเจน เมื่อถึงวันเป็นอันจบลงโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่หากสัญญาไม่มีกำหนดระยะเวลาลูกจ้างต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กรนั้น ๆ บริษัทโดยทั่วไปกำหนดระยะเวลาแจ้งล่วงหน้าไว้ที่ 30 วัน เพื่อให้นายจ้างมีเวลาเพียงพอในการหาบุคลากรมาทดแทนและส่งมอบงานให้เรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาแจ้งล่วงหน้าอาจแตกต่างกันไปตามข้อตกลงในสัญญาจ้างหรือระเบียบขององค์กรนั้นๆ
หากลูกจ้างลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าตามกำหนด แม้จะไม่มีความผิดทางอาญา แต่นายจ้างมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ หากพิสูจน์ได้ว่าการลาออกกะทันหันนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์กร ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ลูกจ้างควรปฏิบัติตามขั้นตอนการลาออกอย่างถูกต้อง โดยแจ้งล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร และจัดการงานในความรับผิดชอบให้เรียบร้อยก่อนวันสุดท้ายของการทำงาน แต่…นายจ้างไม่มีสิทธิไม่จ่ายเงินเดือนลูกจ้าง ด้วยอ้างว่าลาออกกะทันหันได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สมควร พนง.หญิง โยนกระเป๋าผู้โดยสารลงบันได สุดท้ายโดนไล่ออก
- ถกสนั่น แม่ขอลางาน 3 วัน เฝ้าลูกป่วยหนัก เจอหัวหน้าใจดำไล่ออก อ้างมีผลต่องาน
- ‘ออสเตรเลีย’ เริ่มใช้กฎหมายฉบับใหม่ เมินตอบนายจ้างนอกเวลางานได้