เตือนด่วน อย่าพิสูจน์ ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพ ค่าดัชนีความร้อนพุ่ง 52 องศา
“ไร้เงา” เที่ยงวัน ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก 26 เมษายนนี้ เตือนอย่ายืนกลางแดด ค่าดัชนีความร้อนพุ่ง
วันนี้ 26 เมษายน 2567 ตอนเที่ยง ตรียมพบกับปรากฏการณ์สุดพิเศษ “ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพฯ” โดยดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “ไร้เงา” บนพื้นโลกเป็นเวลาชั่วครู่
ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนมาตรงหัวคนกรุงเทพ เวลาประมาณ 12.16 น. โดยประชาชนทั่วทั้งจังหวัดจะสังเกตเห็นวัตถุที่อยู่กลางแดดจะมีเงาเล็กมากจนแทบมองไม่เห็น หรือบางจุดอาจไม่มีเงาเลย เนื่องจากเงาของวัตถุจะทับซ้อนอยู่ใต้ตัววัตถุพอดี
ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก เกิดขึ้นจากการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ตลอดทั้งปี ทำให้มุมระหว่างดวงอาทิตย์ โลก และจุดสังเกตบนพื้นโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สำหรับกรุงเทพฯ ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากจะเกิดขึ้น 2 ครั้งต่อปี โดยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลาประมาณ 12.22 น.
แม้ปรากฏการณ์นี้ จะดูน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ประชาชนทั่วไปไม่ควรจ้องมองดวงอาทิตย์โดยตรงเป็นเวลานาน เพราะอาจส่งผลต่อดวงตาได้ และไม่แนะนำให้ออกไปยืนกลางแดดพิสูจน์เงา
สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร รายงานว่า ดัชนีความร้อนในกรุงเทพมหานครวันนี้ (26 เมษายน 2567) สูงถึง 52.4 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตรายมาก ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน
ตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ดัชนีความร้อนสูงสุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครวันนี้ วัดได้ที่เขตบางนา สูงถึง 52.4 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตรายมาก สำหรับพื้นที่อื่นๆ ดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (42.0 – 51.9 องศาเซลเซียส)
ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วง 11.00 – 15.00 น. หากจำเป็นต้องออกแดด ควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ สวมหมวก ใส่ร่ม และทาครีมกันแดด
นอกจากนี้กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย หรือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรมีบุคคลอื่นดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
หมายเหตุ ดัชนีความร้อน (HEAT INDEX) หมายถึง อุณหภูมิที่ร่างกายรู้สึกได้ ณ ขณะนั้น (Feel like) ขึ้นกับอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ เหมาะสำหรับบ่งชี้ความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อนมากกว่าการใช้ค่าอุณหภูมิสูงสุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง