รู้จัก ‘กำไลอีเอ็ม (EM)’ พันธนาการนอกห้องขัง ลดความแออัดในคุก
ชำแหละข้อมูล กำไลอีเอ็ม (EM) คืออะไร เครื่องมือลดผู้ต้องหาเรือนจำ ในวันที่คุกอัดแน่นไปด้วยผู้ต้องหา เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ชนิดนี้ช่วยคืนอิสรภาพให้แก่นักโทษจริงหรือไม่
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้งกับกำไลอีเอ็ม เครื่องมือพันธนาการยุคใหม่ที่ช่วยคืนอิสรภาพชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องขัง หลังจากที่กรมราชทัณฑ์ พิจาณาลดโทษนักโทษที่สนใจของสังคมอย่างนายเปรมชัย กรรณสูต ผู้ต้องโทษอยู่ที่เรือนจำอำเภอทองผาภูมิ เนื่องจากปัญหาสุขภาพด้านสุขภาพ ตรงบริเวณข้อเท้าที่เคยถูกกว้านเนื้อที่ตายไปจากอาการเบาหวานลงขา การติดกำไลอีเอ็มจะทำให้เกิดการเสียดสีและอาจเกิดบาดแผลที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการรักษาในอนาคต
กำไลอีเอ็ม คืออะไร ทำไมถึงคืนอิสรภาพชั่วคราวให้แก่นักโทษได้
ในวันที่เรือนจำแออัดไปด้วยผู้ต้องหาในคดีต่าง ๆ จนกลายเป็นว่าคุณภาพชีวิตของนักโทษตกต่ำลง กำไลอีเอ็มจึงเข้ามาเป็นเครื่องมือที่ช่วยคุมประพฤติผู้ต้องขัง เพื่อคืนอิสรภาพชั่วคราวให้แก่นักโทษ ตามประมวลกฎหมายมาตรา 56 หากพวกเขาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ผู้คุมประพฤติจะสามารถรับทราบพฤติกรรมได้แบบเรียลไทม์ทันที
กำไลอีเอ็ม ถือเป็นมาตรการทางเลือกแทนการจำคุก โดยคำนึงถึงความรุนแรงของการกระทำผิดและโทษที่ได้รับ ก่อนการปล่อยตัวผู้ต้องขัง จะต้องผ่านการตรวจที่เข้มข้น เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาวินิจฉัยพักโทษ การพิจาณาครั้งนี้จะเริ่มตั้งแต่การซักถามถึงผู้อุปการะที่จะให้การดูแล ชุมชนที่จะกลับไปพักอาศัย ตลอดจนความเห็นทางฝั่งคู่กรณี ผู้ที่ถูกปล่อยตัวทุกคนจะต้องติดอุปกรณ์เป็นเวลา 1 ปี หลังจากการปล่อยตัว เนื่องจากในเวลา 1 ปี ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงที่สุดในการทำความผิดซ้ำ หากยังกระทำความผิดซ้ำอีกกรมคุมประพฤติสามารถสั่งติดกำไลอีเอ็มเพิ่มได้
กำไลอีเอ็มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทยเมื่อไหร่
นับตั้งแต่ปี 2558 กระบวนการยุติธรรมไทยเริ่มเปลี่ยนไปหลังจากที่กำไลอีเอ็มเริ่มเข้ามา จากการแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญาในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเป็นทางเลือกที่จะใช้ควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีแทนการคุมขังในเรือนจำ เพื่อแก้ไขปัญหาคนล้นคุก และให้ผู้ต้องหามีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้น
กระทรวงยุติธรรมและศาลยุติธรรม เริ่มนำกำไลอีเอ็มมาใช้เป็นเครื่องมือติดตามตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 สำหรับประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาและคดียาเสพติด เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างต่อสู้คดี
การทำงานของกำไลอีเอ็ม
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามตัว ทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมผู้กระทำผิดแทนการจำคุกในเรือนจำ พร้อมกับชุดอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณเพื่อใช้ในการติดตามตัว มีลักษณะคล้ายนาฬิกาหรือสายรัดข้อมือข้อเท้า ตัวอุปกรณ์รับสัญญาณ และศูนย์ควบคุมกลางที่ใช้ติดตามตัว เมื่อสวมเข้าไปแล้วจะสามารถตรวจจับการเดินทางของผู้สวมใส่ได้ในทันที ผู้คุมประพฤติจะสามารถตามติดได้ตลอดว่าขณะนี้ผู้ถูกคุมกำลังอยู่ที่ไหน และฝ่าฝืนข้อประพฤติหรือไม่
กำไลอีเอ็ม (EM) ใช้กับใครบ้าง
ผู้ที่ต้องติดกำไลอีเอ็ม จะต้องเป็นผู้ถูกคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หรือผู้ได้รับการพักการลงโทษ พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามตัว หากกรมคุมประพฤติพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสมกับผู้กระทำผิดรายนั้น ตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกำไลอีเอ็มจะใช้กับฐานความผิดดังต่อไปนี้
กรณีจำกัดบริเวณ
- จำเลยมีข้อบกพร่องในเรื่องเที่ยวเตร็ดเตร่ในเวลากลางคืน เล่นการพนัน เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ดื่มสุรามึนเมาแล้วก่อเรื่องทะเลาะวิวาท และพกพาอาวุธ
- มีที่พักอาศัยในพื้นที่มีปัญหายาเสพติด
- ความผิดฐานลักทรัพย์ที่ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์ เช่น ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ลักทรัพย์ในเคหสถาน
กรณีจำกัดความเร็ว
- ความผิดฐานขับรถประมาท
- ความผิดตามพรบ.จราจร เช่น แข่งรถในทางสาธารณะ และใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
กรณีห้ามเข้าเขตกำหนด
- ความผิดฐานบุกรุก ทำร้ายร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งผู้เสียหายยังเกรงกลัวจำเลย และจำเลยอยู่ในชุมชนเดียวกับผู้เสียหาย
ห้ามออกเส้นทางที่กำหนด
- ใช้ร่วมกับเงื่อนไขอื่น ๆ ในกรณีที่จำเลยมีความจำเป็นต้องออกจากที่พักเพื่อไปประกอบอาชีพ หรือมีภารกิจต่าง ๆ
หากผู้กระทำผิดพยายามทำให้กำไลอีเอ็มเสียหาย จะเกิดอะไรไหม
หากผู้กระทำผิดพยายามทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามติดตัวเสียหาย หรือขาดการติดต่อ กำไลอีเอ็มจะแจ้งเตือนไปยังระบบของศูนย์ควบคุมกลางในทันที พนักงานคุมประพฤติจะเข้าจับกุมตัวและตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าจงใจฝ่าฝืนจะมีการรายงานต่อศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่งโดยเร็วเพื่อมีคำสั่งต่อไป ทั้งนี้ อาจมีการสั่งเพิกถอนการคุมประพฤติ ไปจนถึงการกำหนดโทษหรือจำคุก ตามที่รอการลงโทษหรือพักการลงโทษไว้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง