วิธีปฐมพยาบาล ช่วยชีวิต เมื่ออาหารติดหลอดลม ถือเป็นหนึ่งเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเมื่อมีเหตุด่วนเหตุร้าย จะได้นำมาใช้ประโยชน์ได้ทันท่วงที วันนี้ The Thaiger จึงไม่รอช้า รีบพาทุกคนไปเรียนรู้ วิธีช่วยชีวิตเมื่ออาหารติดคอ ทั้งแบบช่วยเหลือผู้อื่น และช่วยเหลือตัวเองเมื่ออยู่คนเดียว ว่าแต่จะมีกี่ขั้นตอน และต้องทำยังไงบ้าง ไปดูพร้อมกันเลย
วิธีปฐมพยาบาล ช่วยชีวิต เมื่ออาหารติดหลอดลม ภัยเงียบจากอาหารติดคอ ใกล้ตัวกว่าที่คิด
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่ออาหารติดหลอดลม มีกี่ขั้นตอน ทำยังไงอย่างไรบ้าง
การช่วยชีวิตหรือปฐมพยาบาล สำหรับผู้ที่มีอาการอาหารติดคอนั้น มีด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่ การปฐมพยาบาล ช่วยเหลือผู้อื่นที่อาหารติดหลอดลม และการปฐมพยาบาล ช่วยเหลือตัวเองกรณีอยู่คนเดียว โดยมีรายละเอียดขั้นตอนแยกย่อย ดังต่อไปนี้
1. การปฐมพยาบาล ช่วยเหลือผู้อื่นที่อาหารติดหลอดลม
หากพบเห็นความผิดปกติว่าบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดมีอาการอาหารติดคอ ให้สังเกตว่าอีกฝ่ายสามารถไอเพื่อขับอาหารออกทางปากได้เองหรือไม่ ซึ่งหากผู้ที่ประสบปัญหาอาหารติดคอ ไม่สามารถทำได้ ให้เริ่มปฏิบัติการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยการไปยืนด้านหลังผู้ป่วย วางเท้าตรงระหว่างเท้าทั้งสองข้างของผู้ป่วย จากนั้นกำมือประสานลงที่ท้องของผู้ป่วยบริเวณเหนือสะดือ-ใต้ลิ้นปี่ แล้วให้ทำการออกแรงกระทุ้งดันขึ้นด้านบน รอบละ 5 ครั้ง หากยังไม่สำเร็จให้ทำต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมประสานงานกับทาง 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป
2. การปฐมพยาบาล ช่วยเหลือตัวเองกรณีอยู่คนเดียว เมื่ออาหารติดคอ
เมื่อมีอาการอาหารติดคอ สิ่งแรกที่ผู้ป่วยควรทำเมื่ออยู่คนเดียวคือ รีบกำหมัดข้างหนึ่งวางตรงเหนือสะดือ-ใต้ลิ้นปี่ จากนั้นให้ใช้มืออีกข้างจับมือที่กำหมัดไว้แล้วก้มหัวให้มือพาดขอบแข็งๆ เช่น พนักเก้าอี้ แล้วก้มตัวลงแรง ๆ ให้เกิดการกระแทกจากหมัดขึ้นด้านบนซ้ำ ๆ จนกว่าอาหารจะหลุดออกมา
วิธีปฐมพยาบาล เมื่อเกิดอาการสำลัก อาหารติดหลอดลมเป็นอย่างไร ?
ข้อสังเกต สำหรับอาการเบื้องต้น ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์อาหารติดหลอดลม ผู้ป่วยมักจะแสดงอาการบางประการ ดังนี้
- พูดคุยตอบสนองไม่ได้
- ไม่สามารถไอออกมาแรง ๆ ได้
- หายใจไม่สะดวก หรือหายใจเร็วและดังเกินไป
- ผิวหนังและขอบปากเริ่มเปลี่ยนสี
- ขาดสติ อาจไม่รับรู้สิ่งรอบตัว
การดูแลป้องกัน ไม่ให้อาหารติดหลอดลม
สำหรับการป้องกัน ไม่ให้เกิดเรื่องน่าเศร้า ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอาหารติดหลอดลมนั้น สามารถทำได้หลายวิธี เริ่มตั้งแต่ การเลี้ยงดูลูกที่อายุน้อยกว่า 12 ปีด้วยความระมัดระวังอย่างใกล้ชิด อบรมคนที่อายุน้อยกว่าไม่ให้นำสิ่งแปลกปลอมเข้าปาก ห้ามไม่ให้หัวเราะระหว่างรับประทานอาหาร ระวังเรื่องของเศษกระดูกหรือก้างปลา เมื่อทานผลไม้ต้องระวังไม่ทานเมล็ด ในกรณีเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุที่ไม่มีฟัน ต้องระวังเรื่องของการเคี้ยวอาหารที่ไม่ละเอียดให้ดีเป็นพิเศษ
จบกันไปแล้วนะคะ สำหรับเรื่องดี ๆ อย่าง วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยชีวิต เมื่ออาหารติดหลอดลม ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ เชื่อว่า นี่อาจเป็นหนึ่งในเรื่องใกล้ตัว ที่ใครหลายคนมักจะมองข้ามไป ส่วนคราวหน้า The Thaiger จะมีเรื่องราวสาระดี ๆ อะไรมาฝากกันอีก ก็อย่าลืมรอติดตามกันด้วยนะ ?
- วิธีการใช้ถังดับเพลิง ท่องจำให้ขึ้นใจ ไฟไหม้ เมื่อไหร่ จะได้ไม่ว้าวุ่น
- มะยงชิด มะปราง ต่างกันอย่างไร ? ไขคำตอบความต่าง ผลไม้หน้าร้อน
- ไขข้อข้องใจ กัญชง กัญชา ต่างกันอย่างไร มีประโยชน์ด้านไหนบ้าง มีคำตอบ