รังสิมันต์ โรม ชวนจับตาประชุมพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 2 พยายามให้ รธน.แก้ยากขึ้น
รังสิมันต์ โรม ชวนจับตาประชุมสภา พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ วาระที่ 2 ชี้รัฐบาล ส.ว. กำลังพยายามที่ให้รัฐธรรมนูญแก้ยากขึ้น
รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกลได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Rangsiman Rome – รังสิมันต์ โรม ระบุว่า
พรุ่งนี้ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2564 จะมีการประชุมร่วม ส.ส. – ส.ว. ในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 วาระที่ 2 โดยจะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมฯ ไปทีละมาตรา
ในครั้งนี้ มี 2 ประเด็นที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ผมขอชวนให้พี่น้องประชาชนจับตามอง และเรียกร้องไปยัง ส.ส. และ ส.ว. ทุกคน ได้แก่
1. การแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 กำลังถูกทำให้ยากขึ้น
ผมขออธิบายก่อนว่าในการแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มีการแก้ใน 2 ส่วนสำคัญ คือ
(1) การแก้มาตรา 256 ซึ่งเป็นมาตราที่กำหนดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 (เรียกได้ว่าเป็น “การแก้วิธีแก้”)
(2) การเพิ่มเรื่อง ส.ส.ร. และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ในส่วนมาตรา 256 นั้น เดิมกำหนดว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ให้ใช้เสียงเห็นชอบ “มากกว่าครึ่งหนึ่ง” ของทั้งสองสภา โดยให้มีเสียงจาก ส.ว. “ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3”
พูดง่ายๆ คือ ในสภาที่มี 750 คน (ส.ส. 500, ส.ว. 250) ถ้ามีคนเห็นชอบอย่างน้อย 376 คน เป็น ส.ส. อย่างน้อย 292 คน ส.ว. อย่างน้อย 84 คน ก็สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้
แต่ตอนนี้ ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. กำลังเปลี่ยนให้การแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง “ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3” ของทั้งสองสภา หรือเท่ากับ 500 คน
ถ้าคิดเป็นตัวเลข ต่อให้รวมเสียง ส.ส. มาได้ถึง 400 คน (เท่ากับ 80% ของ ส.ส. ทั้งหมด) ก็ยังต้องใช้เสียง ส.ว. อีก 100 คน จึงจะสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้
จากเดิม ใช้เสียง 292+84 ก็ผ่าน ตอนนี้กำลังจะกลายเป็นต้องใช้เสียง 400+100 (หรือ 350+150 หรือ 300+200) ถึงจะผ่าน ไม่ว่าจะมองอย่างไร ก็แก้ยากกว่าเดิมชัดๆ
และที่สำคัญกว่านั้น เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน สภาเพิ่งมีมติยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความว่าตัวสภาเองมีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญให้เพิ่ม ส.ส.ร. และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ (ซึ่งตัวตั้งตัวตีในการเสนอ และโหวตให้สภายื่นต่อศาล ก็คือ ส.ว. และ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ)
ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสภาไม่มีอำนาจ การแก้รัฐธรรมนูญ เพิ่มเรื่อง ส.ส.ร. และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ตามข้อ (2)) ก็จะตกไป
แต่การแก้มาตรา 256 (ตามข้อ (1)) ที่กำลังทำให้แก้รัฐธรรมนูญยากขึ้น (ซึ่งก็ผลักดันโดย ส.ว. และ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเช่นกัน) อาจยังอยู่
นั่นจะทำให้สุดท้ายแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กลับแก้ยากขึ้น ประชาชนไทยก็จะต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม (ที่แก้ยากกว่าเดิม) ต่อไป
2. หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. พยายามตลอดที่จะไม่ให้ ส.ส.ร. สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในหมวดนี้ได้ (เรื่องนี้อยู่ในมาตรา 256/13)
ผมและพรรคก้าวไกล ยืนยันมาตลอดว่าในเมื่อเราจะได้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดให้สามารถจำทำได้ในทุกหมวด เพื่อให้ตรงกับเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด
เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้มีประชาชนจำนวนมากเห็นว่าหมวด 1 และหมวด 2 นั้นสมควรต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยมากขึ้น เราจึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้นำเสนอข้อเรียกร้องของตัวเอง แล้วสุดท้ายประชาชนทั้งประเทศจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะรับข้อเรียกร้องเหล่านั้นหรือไม่? มากน้อยเพียงใด?
การพิจารณาวาระที่ 2 แบบรายมาตรานี้ อาจเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จะได้ตัดสินใจ ว่าจะยังห้ามต่อไป หรือจะเปิดให้ ส.ส.ร. พิจารณาได้ (หลังจากนี้ในวาระที่ 3 จะต้องลงมติว่าจะรับ/ไม่รับทั้งฉบับ ยากแล้วที่จะพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป)
ทั้ง 2 ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่พี่น้องประชาชนต้องร่วมกันติดตาม และเรียกร้องไปยัง ส.ส. และ ส.ว. ทุกคน อย่าปล่อยให้มันเกิดขึ้นได้เด็ดขาด