การเงินเศรษฐกิจ

ช็อก! ตั๋วเครื่องบิน กรุงเทพฯ-สกลนคร ช่วงสงกรานต์ พุ่งเฉียด 1.5 หมื่นบาท

คนเดินทางกลับบ้านด้วยเครื่องบินอึ้ง ตั๋วบินเที่ยวเดียว ชั้นประหยัด กรุงเทพฯ-สกลนคร ช่วงสงกรานต์ พุ่งเฉียด 1.5 หมื่นบาท

ชาวเน็ตอึ้ง ถามแพงไปไหม หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพหน้าจอขณะจองตั๋วเครื่องบิน โดยเป็นราคาตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียว เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่ สกลนคร ของสายการบินหนึ่ง สำหรับการเดินทางในวันที่ 12 เมษายน 2568 ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ พุ่งสูงถึง 14,919 บาท

ราคาดังกล่าวเป็นราคาสำหรับชั้นประหยัด เที่ยวบินขาไปเพียงเที่ยวเดียว ในเที่ยวบิน DD9406 เวลา 07:30 น. ซึ่งสูงกว่าราคาในวันใกล้เคียงอย่างเห็นได้ชัด (10 เม.ย. ราคา 4,8xx บาท, 13 เม.ย. ราคา 4,3xx บาท) สร้างความตกตะลึงและเกิดคำถามถึงความเหมาะสมของราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประชาชนจำนวนมากต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อฉลองเทศกาลสำคัญ

แคปชั่นระบุว่า “นี่ !!!! สกลนคร บ่ใช่ สก๊อตนคร เด้อออ ราคาตั๋วบินกรุงเทพ – สกลนคร !!!!!!!!!!!!!!!!

ราคาขาเดียวด้วยนะ ไม่รวมขากลับ ราคาแบบนี้ คือ เอาเปรียบผู้บริโภคเกินไปไหมนะ คนจะกลับบ้านเทศกาลทั้งที เจอราคานี้คือ กุมขมับ

เข้าใจว่าเทศกาล ความต้องการสูง ราคาก็สูงตาม แต่คิดว่ามันเกินไปหน่อยอ่ะ เอออไม่หน่อยแหละ เกินไปมากกกกกกกค่า”

ทำความเข้าใจ หลักการกำหนดราคาตั๋วเครื่องบิน ทำไมราคาถึงผันผวน?

ราคาตั๋วเครื่องบินที่เราเห็นนั้น ไม่ได้มีราคาตายตัว แต่เป็น “ราคาแบบพลวัต” (Dynamic Pricing) ซึ่งหมายความว่าราคาจะเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้บริโภค ยิ่งช่วงเวลานั้นตรงกับเทศกาล คนต้องการบินในเส้นทางนั้นเยอะ ราคาตั๋วก็จะพุ่งสูงขึ้น เพราะที่นั่งมีจำกัด แต่หากความต้องการต่ำ ราคาตั๋วก็จะถูกลงเพื่อกระตุ้นการเดินทาง

โดยทั่วไป การจองล่วงหน้านานๆ มักจะได้ราคาที่ถูกกว่าการจองใกล้ๆ วันเดินทาง เพราะสายการบินต้องการทยอยขายที่นั่งให้ได้มากที่สุด เมื่อใกล้เดินทางและที่นั่งเหลือน้อยลง ราคาสำหรับที่นั่งที่เหลืออยู่มักจะแพงขึ้น

ดังนั้น หากเลือกจำเป็นต้องเดินทางในฤดูท่องเที่ยว ย่อมเจอตั๋วแพงกว่านอกฤดูท่องเที่ยว วิธีเดียวที่พอช่วยบรรเทาได้ คือจองตั้งแต่เนิ่นๆ ล่วงหน้าหลายเดือน

นอกจากนี้ วันและเวลาเดินทางก็มีผล เช่น ไฟลท์เช้าตรู่ หรือดึก อาจถูกกว่าไฟลท์ช่วงสาย หรือเย็น วันเดินทางกลางสัปดาห์มักถูกกว่าวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เส้นทางที่มีสายการบินให้บริการหลายราย มักจะมีการแข่งขันด้านราคาสูงกว่าเส้นทางที่มีผู้ให้บริการน้อยราย หรือผูกขาด

รัฐบาลออกมาตรการ ลดค่าตั๋วเครื่องบิน 30% ช่วงเทศกาลสงกรานต์

ย้อนกลับไปวันที่ 10 มีนาคม 2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เคาะมาตรการของรัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (11-17 เมษายน 2568) ส่วนหนึ่งคือ การขอความร่วมมือสายการบินให้ปรับลดราคาค่าโดยสารลง 30% จาก “ราคาเพดาน” (ราคาสูงสุดที่สายการบินได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้) ในเส้นทางบินภายในประเทศที่มีความต้องการเดินทางสูง 11 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ สู่ ภูเก็ต, เชียงใหม่, กระบี่, สมุย, นครพนม, อุดรธานี, อุบลราชธานี, เชียงราย, ขอนแก่น, หาดใหญ่ และนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ เส้นทางกรุงเทพฯ-สกลนคร ซึ่งเป็นประเด็นในข่าวนี้ ไม่ได้รวมอยู่ใน 11 เส้นทางดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเที่ยวบินรวม 124 เที่ยวบิน เพื่อเพิ่มจำนวนที่นั่งอีกราว 25,000 ที่นั่ง เพื่อรองรับความต้องการเดินทาง โดยตั๋วราคาพิเศษตามมาตรการนี้ได้เปิดจำหน่ายไปแล้วระหว่างวันที่ 11-20 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

แม้จะมีมาตรการเพิ่มเที่ยวบินและขอความร่วมมือลดราคาในบางเส้นทาง แต่สำหรับเส้นทางที่ไม่รวมอยู่ในมาตรการเฉพาะกิจ หรือการจองนอกช่วงเวลาโปรโมชั่นดังกล่าว ราคาตั๋วโดยสารยังคงเป็นไปตามกลไกราคาแบบพลวัต ซึ่งอิงตามอุปสงค์และอุปทาน ณ ช่วงเวลาที่ทำการจอง ดังที่ปรากฏในกรณีราคาตั๋วเส้นทางสู่สกลนคร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button