รู้หรือไม่? ที่ปรึกษานายกฯ กับ ที่ปรึกษาของนายกฯ ต่างกันอย่างไร ใครอยู่ในตำแหน่งบ้าง

วิเคราะห์ความแตกต่างตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกฯ กับ ที่ปรึกษาของนายกฯ ต่างกันอย่างไร? ใครรับตำแหน่งในรัฐบาลแพทองธารอยู่
จากกรณีข่าวฉาวโฉ่ ไฮโซเก๊ อดีตแฟนหนุ่มของดาราสาว คะน้า ริญญารัตน์ ที่ถูกเปิดโปงว่าแอบอ้างตำแหน่ง “ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” แพทองธาร ชินวัตร พร้อมโชว์แชตปลอมคุยนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ ขึ้นมาเป็นตุเป็นตะ จนกลายเป็นเรื่องฉาวลวงโลกที่หลาย ๆ คนจับตามองอยู่ในขนาดนี้นั้น ได้สร้างความสับสนและคำถามตามมาให้กับสังคมไม่น้อยว่า ตำแหน่งนี้มีอยู่จริงในระบบการทำงานของรัฐบาลไทยหรือไม่? แตกต่างจากตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกฯ อย่างไร? และใครดำรงตำแหน่งนี้อยู่ในปัจจุบัน ทีมงาน ไทยเกอร์ หาคำตอบมาให้ทุกท่านแล้วค่ะ
คำนิยามตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกฯ และ ที่ปรึกษาของนายกฯ
ตำแหน่ง “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” เป็นตำแหน่งที่มีสถานะทางกฎหมายชัดเจน โดยได้รับการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 การดำรงตำแหน่งนี้ถือเป็นการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และมีการประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา บ่งชี้ว่าบุคคลที่จะมานั่งในตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นั้นจะมีบทบาทและความรับผิดชอบที่สำคัญต่อการบริหารประเทศ
ในทางตรงกันข้าม ตำแหน่ง “ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” มีลักษณะที่ไม่เป็นทางการและไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายรองรับโดยเฉพาะ การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว เพื่อให้คำแนะนำในประเด็นเฉพาะ หรือโครงการเฉพาะกิจ ไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
บทบาทหน้าที่
หน้าที่หลักของ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คือการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายโดยตรงแก่นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ยังมีสิทธิ์เข้าร่วมการประชุมบางประเภทในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้วย นั่นยิ่งทำให้เห็นว่า บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งนี้มักเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน
หน้าที่ของ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การให้คำแนะนำในประเด็นที่เจาะจง หรือโครงการเฉพาะหน้าตามที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร โดยจะคัดเลือกบุคคลที่มาเข้ารับตำแหน่งนี้จากความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ
เงินเดือน ที่ปรึกษานายกฯ และ ที่ปรึกษาของนายกฯ
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จะได้รับเงินเดือนประจำและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ในฐานะข้าราชการการเมือง ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินเดือนอยู่ที่ 71,230 บาทต่อเดือน
สำหรับค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นั้น ไม่ได้มีการกำหนดไว้ตายตัว และอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางท่านอาจได้รับค่าตอบแทนพิเศษ เบี้ยประชุม หรือเบี้ยเลี้ยงตามความเหมาะสมที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ในขณะที่บางท่านอาจปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี
เปิดรายชื่อ 5 กุนซือ นั่งเก้าอี้ “ที่ปรึกษานายกฯ”
1. ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย อดีตที่ปรึกษานายกฯ เศรษฐา ทวีสิน, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, อดีตที่ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบ ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์, อดีตสส.บัญชีรายชื่อ, อดีตอัยการสูงสุด, อดีตอัยการอาวุโส (ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด) สำนักงานอัยการสูงสุด
2. สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีตสส.บัญชีรายชื่อ, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์, อดีตที่ปรึกษาประธานรัฐสภา (ดร.โภคิน พลกุล), อดีตที่ปรึกษาให้กับ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และอดีตเหรัญญิกพรรคพลังประชาชน
3. เทวัญ ลิปตพัลลภ อดีตที่ปรึกษานายกฯ เศรษฐา ทวีสิน, อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา 3 สมัย
4. ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตที่ปรึกษานายกฯ เศรษฐา ทวีสิน, รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, อดีตสส.จังหวัดมหาสารคาม เขต 3 สังกัดพรรคเพื่อไทย และอดีตผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
5. จักรพงษ์ แสงมณี อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และอดีตนายทะเบียนสมาชิกพรรคเพื่อไทย
รายชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาของนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์”
1. จิรายุ ห่วงทรัพย์ อดีตผู้ประกาศข่าว, ที่ปรึกษาบก.ปภ.ช, โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลแพทองธาร, โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.), อดีตโฆษกกระทรวงกลาโหม ฝ่ายการเมือง และอดีตประธานคณะกรรมาธิการ กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร อดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร หลายสมัย
2. ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส อดีตปลัดสำนักนายก
3. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์, อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, เลขาธิการ นปช., อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์, อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์พีทีวี, อดีตผู้ดำเนินรายการความจริงวันนี้ และอดีตรองโฆษกพรรคไทยรักไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘นายกอิ๊งค์’ เซ็น ‘ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ นั่งที่ปรึกษานายกฯ
- แพทองธาร ตั้ง “จิรายุ ห่วงทรัพย์” นั่งที่ปรึกษานายกฯ ประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาล
- ‘อุ๊งอิ๊ง’ เซ็นแต่งตั้ง คณะที่ปรึกษานโยบายนายกฯ ส่องดูมีใครบ้าง