ข่าว

‘อ.เจษฎา’ ไขความจริง ‘สติ๊กเกอร์บนผลไม้’ บอกอะไรผู้บริโภค เกี่ยวกับ GMO ไหม?

‘อ.เจษฎา’ ช่วยไขกระจ่าง ‘สติ๊กเกอร์บนผลไม้นำเข้า’ หรือ PLU บอกอะไรแก่ผู้บริโภค รู้แล้วร้องอ๋อ เป็นประโยชน์จริงหรือไม่ ? เพราะแท้จริงจะติด/ไม่ติด ก็ได้

ผู้บริโภคตั้งข้อสังเกต สติ๊กเกอร์บนผลไม้ หรือ เลขฉลาก PLU ที่ติดบนผลไม้นำเข้า แท้จริงซ่อนความหมายอะไรถึงผู้บริโภค บ่งบอกถึงคุณภาพสินค้า หรือเกี่ยวข้องกับ Genetically Modified Organism (GMO) ตามที่หลาย ๆ คนเข้าใจหรือไม่ หลังเกิดเป็นกระแสบนโลกออนไลน์อีกครั้ง เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งออกมาโพสต์ภาพสติ๊กเกอร์ที่ติดบนผลไม้นำเข้า ซึ่งจะปรากฏหมายเลขที่แตกต่างกัน มีทั้งเลขห้าหลักและหกหลัก พร้อมระบุว่าตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกถึงกลุ่มผลไม้ออร์แกนิก และ GMO

Advertisements

ล่าสุด (5 กันยายน 2567) อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ไขความจริงในประเด็นดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant โดยเผยว่า แท้จริงแล้วตัวเลขที่แตกต่างกันบนสติ๊กเกอร์ไม่ได้บ่งบอกรายละเอียดของประเภทสินค้ามากมายแต่อย่างใด แต่จะช่วยอำนวยความสะดวกเกษตรกรและห้างร้าน ในการจำแนกแยกผลิตภัณฑ์ผักผลไม้เพื่อการขนส่งและจัดจำหน่าย

ถึงอย่างนั้นก็มีประโยชน์แก่ผู้บริโภคในด้านการเลือกซื้อผลไม้ เพราะถ้ามีเลข “9” อยู่ด้านหน้าจะบ่งบอกถึงการเป็นผลผลิตจากการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และในส่วนของเลข 8 จะแสดงถึงการเป็น GMO หรือ สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งก็ไม่ได้เป็นข้อบังคับว่าจะต้องใส่เลข 8 อยู่ด้วย ดังนั้นการตรวจเช็กตราสัญลักษณ์มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ทางเกษตร แบบจำเพาะที่ต้องการ จะมีประโยชน์มากกว่า

อ.เจษฎ์ ไขสงสัยเรื่องสติ๊กเกอร์ผลไม้
ภาพจาก : Jessada Denduangboripant

โพสต์ดังกล่าวระบุข้อความไว้ว่า “เลขฉลาก PLU บนผลไม้นำเข้า ไม่ค่อยบอกอะไรสำหรับผู้บริโภคหรอกครับ จริง ๆ อันนี้เป็นเรื่องเก่าที่เคยอธิบายไปหลายทีแล้ว โดยเฉพาะตอนช่วงที่มีกระแส “แอนตี้ GMO” ว่าเรื่อง ตัวเลขที่อยู่บนผลไม้เนี่ย มันไม่ค่อยมีอะไรสำคัญเท่าไหร่หรอกครับ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ

เพราะมันมีไว้สำหรับทางเกษตรกรและห้างร้าน ในการจำแนกแยกผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ เพื่อการขนส่งและจัดจำหน่าย แค่นั้นเอง / ไม่ได้เอาไว้บอกว่า ผลไหนมียาฆ่าแมลงตกค้างหรือผลไหนปลอดภัยในการบริโภค

ภาพผลไม้นำเข้า เช่น แอปเปิ้ลที่ติดฉลากที่แชร์กันมานานหลายปี หลายรอบแล้วนี้มีแคปชั่นทำนองว่า “ฉลากผลไม้ขึ้นต้นด้วยเลข 9 แสดงว่าเป็นออร์แกนิก ถ้าขึ้นด้วยเลข 8 เป็นพวก GMO ถ้ามีเลขสี่ตัวขึ้นด้วยเลข 3 หรือ 4 แสดงว่าใช้ยาฆ่าแมลง ก่อนรับประทานล้างและแช่น้ำไว้นาน ๆ หน่อย” !?

Advertisements

จริง ๆ แล้ว สติกเกอร์ที่มีตัวเลขดังกล่าว ซึ่งเราจะเห็นบนแอปเปิ้ล กล้วย ส้ม ฯลฯ ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น เรียกว่า Price Look-Up (PLU) numbering codes หรือ รหัสเลข PLU สำหรับดูราคาสินค้าทางการเกษตรที่เป็นของสด ไม่ได้ผ่านกระบวนการผลิต กำหนดตัวเลขโดยหน่วยงาน the International Federation for Produce Standards (IFPS) ที่คอยดูแลรายการรหัสตัวเลข 5 ตำแหน่ง (ที่บางที เห็นเป็น 4 ตำแหน่งนั้น ก็เพราะว่ามันมีเลขศูนย์ นำหน้า) ซึ่งใช้ระบุคุณลักษณะของสินค้า ตั้งแต่สายพันธุ์ ชนิด ขนาด พื้นที่เพาะปลูก และวิธีการเพาะปลูก (เช่น เป็นเกษตรอินทรีย์)

ตัวเลขนี้ได้เริ่มนำมาใช้ในห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ ตั้งแต่ยุค ค.ศ. 1990 เพื่อให้สามารถตรวจสอบและจัดจำแนกสินค้าทางการเกษตรได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และแม่นยำขึ้น จะได้ให้แคชเชียร์คิดเงินลูกค้าได้อย่างสะดวกและถูกต้อง

สำหรับตัวเลขรหัส PLU ที่มักจะพบว่าอยู่ในช่วง เลข 3000 – 4000 นั้น จริง ๆ แล้วมีเลข “0” อยู่ข้างหน้า (ทำให้เป็นรหัส 5 ตำแหน่ง) และเป็นการเพาะปลูกแบบเกษตรทั่วไป ขณะที่ถ้ามีเลข “9” อยู่ด้านหน้า (ซึ่งจะเห็นชัดว่าเลขรหัสมี 5 ตำแหน่ง) จะระบุว่าเป็นผลผลิตจากการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์

ตัวอย่างเช่น รหัส PLU code 4318 แสดงว่าเป็น แตงแคนตาลูป ที่ปลูกแบบทั่วไป ในบริเวณตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ขณะที่รหัส 94011 แสดงว่าเป็นกล้วยสีเหลืองที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์

แต่รหัสเลข PLU นี้ เป็นแค่ “ทางเลือก” เป็นแค่คำแนะนำเท่านั้น ผู้ผลิตจะไม่ติดหรือจะไม่ใช้ก็ได้ เพราะเป็นแค่ตัวช่วยของผู้ขายในการจัดจำแนกและคิดราคาสินค้าเท่านั้น ไม่ได้เป็นเครื่องหมายบอกถึงคุณภาพมาตรฐานแต่อย่างไร

ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ขายตั้งราคาสินค้านั้นเหมือนกัน ระหว่างผลที่เพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และผลที่ปลูกด้วยวิธีเกษตรทั่วไป ก็สามารถเอารหัส PLU มาแสดงแค่ 4 ตำแหน่งหลัง โดยไม่ต้องใส่เลข 9 ด้านหน้าก็ได้ หรืออย่างกรณีของเลข 8 ที่แสดงถึงการเป็น GMO หรือ สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้น ก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องใส่เลข 8 นี้ในหลักแรกของรหัสทั้ง 5 ตำแหน่ง แต่แสดงแค่ 4 ตำแหน่งหลังก็ได้ (จริง ๆ ก็ยังไม่ค่อยมีสินค้าที่เป็นผักผลไม้ GMO ขายในท้องตลาดทั่วไป)

ดังนั้น ถ้าตั้งใจจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ทางเกษตรแบบจำเพาะที่ต้องการ เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสาร (หมายถึง ใช้สารเคมี แต่อย่างเหมาะสมและไม่ตกค้าง) ก็ควรดูตราสัญลักษณ์มาตรฐานเป็นการเฉพาะไป .. มากกว่าจะมาดูเลข PLU นี้ครับ”

ทั้งนี้ ผู้อ่านทุกท่านสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ snopes

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button