รวม 8 สถานที่น่าเที่ยว พาครอบครัวไปพักผ่อนชิล ๆ ในวันสารทจีน 2567
เช็กลิสต์ 8 สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพ อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งที ชวนครอบครัวไปพักผ่อน พร้อมเสริมความสิริมงคลในวันสารทจีน
เสียงพลุดังสนั่น ควันธูปลอยฟุ้ง กลิ่นหอมของไหว้สารทจีนลอยเตะจมูก บรรยากาศอันคุ้นเคยของ “วันสารทจีน” ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2567 วันที่ครอบครัวชาวไทยเชื้้อสายจีนร่วมรำลึกถึงบรรพบุรุษและขอพรให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ตรงกับวันหยุดทั้งที นอกจากการไหว้เจ้าที่บ้านแล้ว การพาครอบครัวออกไปท่องเที่ยวในวันพิเศษนี้ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และสร้างความทรงจำดี ๆ ร่วมกันได้ไม่แพ้กัน
มาดูกันดีกว่าว่า ปีนี้เราจะพาครอบครัวไปเที่ยวที่ไหนดี ให้สมกับการเฉลิมฉลองวันสารทจีนกันแบบสุดพิเศษ!
1. เยาวราช
ถนนเยาวราช หรือที่รู้จักกันในนาม “ไชน่าทาวน์” เป็นย่านชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย บริเวณ 2 ฝั่งข้างทางของถนนเยาวราช เต็มไปด้วยร้านอาหารจีนชื่อดัง ร้านขายของที่ระลึก และวัดจีนเก่าแก่หลายแห่ง ซึ่งในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวจีน ถนนเยาวราชจะเต็มไปด้วยสีสันและกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ใครยังไม่เคยไปควรลองไปสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง เพราะแม้แต่ร็อกสตาร์สาวที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง “ลิซ่า” ก็ใช้สถานที่นี้เป็นฉากในมิวสิกวิดีโอของเธอด้วย
วิธีเดินทางไปเยาวราช
- นั่ง BTS ลงสถานีตากสิน แล้วต่อด้วยรถประจำทางสาย 1
- รถประจำทางสาย ปอ.529, 542 ผ่านหัวลำโพง-วงเวียนโอเดียน
- รถไฟฟ้า MRT สถานีหัวลำโพง จากนั้นต่อด้วยรถประจำทางสาย 4 ,25, 40
- รถไฟฟ้า MRT ลงสถานีวัดมังกร ออกประตูทางออกที่ 1 จากนั้นเดินมาจนสุดถนนแปลงนาม จะพบกับถนนเยาวราช
***หมายเหตุ : หากต้องการดื่มด่ำบรรยากาศของถนนเยาวราช อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ควรไปวันจันทร์ เพราะร้านค้าส่วนใหญ่จะปิดทำการในวันนั้น
2. วัดเล่งเน่ยยี่
วัดเล่งเน่ยยี่ หรือที่เรียกกันว่า “วัดมังกรกมลาวาส” เป็นวัดจีนที่มีชื่อเสียงมากในกรุงเทพ วัดนี้ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ภายในวัดมีสถาปัตยกรรม และงานศิลปะจีนที่งดงามมากมาย ทั้งยังเป็นสถานที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปและเทพเจ้าต่าง ๆ จำนวนมาก เรียกได้ว่าไปที่เดียวคุ้ม ! เพราะได้เดินชมความสวยงามของศิลปะ และมีเทพเจ้าหลากหลายองค์ให้เคารพบูชาเพื่อเสริมสิริมงคลด้วย
การเดินทางไปวัดเล่งเน่ยยี่
- รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีหัวลำโพง แล้วเดินต่อประมาณ 10 นาที
- รถโดยสารประจำทาง : สาย 1, 4, 7, 21, 25, 29, 35, 40, 53, 73, 73ก, 507
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น.
3. วัดโพธิ์แมนคุณาราม
วัดนี้เป็นวัดจีนที่อยู่ในย่านเจริญกรุง เช่นเดียวกับวัดเล่งเน่ยยี่ แต่มีบรรยากาศที่สงบแฃะร่มรื่นกว่า เหมาะกับการปฏิบัติธรรม หรือพักผ่อนจิตใจ ไฮไลต์สำคัญของวัดนี้ นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมสไตล์จีนให้รับชมแล้ว ยังเป็นสถานที่ประดิษฐานของ “เจ้าแม่กวนอิมปางพันมือ” ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพอีกด้วย
การเดินทางไปที่วัดโพธิ์แมนคุณาราม
- รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีหัวลำโพง แล้วเดินต่อประมาณ 15 นาที หรือต่อรถตุ๊กตุ๊ก/แท็กซี่
- รถโดยสารประจำทาง สาย 1, 4, 7, 21, 25, 29, 35, 40, 53, 73, 73ก, 507
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.
4. ชุมชนกุฎีจีน
“ชุมชนกุฎีจีน” เป็นชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี มีประวัติศาสตร์ยาวนาน โดยมีจุดเด่นคือการผสมผสานวัฒนธรรมหลากหลาย ทั้งไทย จีน และโปรตุเกส ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพ ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตชุมชนแบบดั้งเดิม และมีสถาปัตยกรรมสวยงามให้เดินชมจำนวนมาก
ชุมชนกุฎีจีนอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญจากหลากหลายศาสนา เช่น “วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” อันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธไตรรัตนนายก หรือ “หลวงพ่อโต” นอกจากนี้ยังมี “วัดซางตาครู้ส” โบสถ์คริสต์เก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มีสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกที่สวยงามให้รับชมอย่างตระการตา รวมถึง “ศาลเจ้าเกียนอันเกง” ศาลจีนเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของชาวจีนในชุมชนด้วย
การเดินทางไปชุมชนกุฎีจีน
- รถไฟฟ้า BTS ลงสถานีสะพานตากสิน แล้วต่อเรือข้ามฟากไปยังท่าวัดกัลยาณ์
- รถโดยสารประจำทาง สาย 3, 6, 84, 88, 89, 111, 149, 177, 542
5. ตลาดน้อย
ตลาดน้อยเป็นย่านเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในเขตสัมพันธวงศ์ เดิมเป็นชุมชนของชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันตลาดน้อยเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ผสมผสานกลิ่นอายความเป็นจีนดั้งเดิมเข้ากับสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสได้อย่างลงตัว
ในย่านตลาดน้อยมีตึกแถวเก่าแก่สไตล์ชิโนโปรตุกีส บ้านไม้ และโกดังเก่า รวมถึงภาพวาดสตรีทอาร์ตสวย ๆ ตามตรอกซอยต่าง ๆ เหมาะกับการถ่ายรูปไปอวดบรรยากาศสุดชิคผ่านโซเชียล ทั้งยังมีศาลเจ้าและวัดจีนเก่าแก่หลายแห่ง เช่น ศาลเจ้าโจวซือก๋ง ศาลเจ้าโรงเกือก และวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร ด้วย เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เหมาะกับการพาครอบครัวไปเที่ยว เพราะสามารถเอนจอยกับบรรยากาศได้ทุกเจนเนอร์เรชัน
การเดินทางไปตลาดน้อย
- รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีหัวลำโพง แล้วต่อรถแท็กซี่หรือรถตุ๊กตุ๊กไปยังตลาดน้อย
- รถโดยสารประจำทาง สาย 1, 75, 507
6. อุทยานเบญจสิริ
พักจากวัดต่าง ๆ มาที่สถานที่ร่มรื่นเหมาะกับการพักผ่อนกันบ้าง “อุทยานเบญจสิริ” เป็นสวนสาธารณะที่ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท มีพื้นที่ริมทะเลสาบสวยงาม ทั้งยังมีประติมากรรมสมัยใหม่ และกิจกรรมกลางแจ้งมากมาย เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ วิ่งหรืปั่นจักยานออกกำลังกาย หรือจะชวนครอบครัวมาปูเสื่อปิกนิกก็ได้
วิธีการเดินทางไปอุทยานเบญจสิริ
- รถไฟฟ้า BTS ลงสถานีพร้อมพงษ์ แล้วเดินต่อประมาณ 10 นาที
- รถโดยสารประจำทาง สาย 25, 40, 508, 511
เวลาเปิด-ปิด : อุทยานเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 04:30 น. – 22:00 น.
7. สวนสันติชัยปราการ
สวนสันติชัยปราการ เป็นสวนสาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางลำพู สวนนี้มีบรรยากาศที่ร่มรื่นและเงียบสงบ ภายในสวนมีทางเดิน ร่มไม้ และม้านั่ง นอกจากนี้ยังมีศาลาทรงไทย และป้อมพระสุเมรุ ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่ใกล้ ๆ ด้วย บรรยากาศโดยรวมของสวนสันติชัยปราการเหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาไปด้วย ใครอยากพาครอบครัวไปนั่งชมพระอาทิตย์ตกดินด้วยกันต้องไม่พลาดที่จะไปที่นี่
การเดินทางไปสวนสันติชัยปราการ
- รถประจำทาง สาย 59, ปอ.59 และ ปอ.503
- เดินทางโดยเรือ ลงท่าเรือพระอาทิตย์
เวลาเปิด-ปิด : เปิดตั้งแต่เวลา 5.00-21.00น.
8. สวนหลวง ร.9
สวนหลวง ร.9 เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพ ตั้งอยู่บนถนนเฉลิมพระเกียรติ ร. 9 เขตประเวศ สวนสาธารณะแห่งนี้พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ภายในสวนมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ทางวิ่งออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น สวน รวมถึงทะเลสาบที่สามารถทำกิจกรรมปั่นเรือเป็ดได้ หากใครกำลังมองหารสถานที่ที่สามารถพาครอบครัวทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ๆ ไปพักผ่อน ที่นี่ถือว่าตอบโจทย์ได้ดีเลยทีเดียว
วิธีเดินทางไปสวนหลวง ร.9
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลงสถานีสวยหลวง ร.9 ออกประตูที่ 2
เวลาเปิด-ปิด : เปิดบริการเวลา 5.00 – 19.00 น.
ภาพจาก : thai.tourismthailand , wongnai
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 10 ข้อห้าม “วันสารทจีน” ทำแล้ววิญญาณร้ายตามติด ชีวิตไม่รุ่งเรือง
- ของไหว้สารทจีน 2567 ควรไหว้อะไรบ้าง จัดโต๊ะไหว้อย่างไร
- ไขสงสัย “วันสารทจีน” ความหมายมงคล ทำไมถึงเรียก “วันสารท”