รู้แล้ว “มิจฉาชีพเอาเบอร์เรามาจากไหน” ขายกันโต้งๆ ล้านชื่อ คนไทยจ่ายค่าโง่หมื่นล้าน
ตำรวจไซเบอร์ เปิดปฏิบัติการ “cyber sweep” กวาดล้างเครือข่ายขายข้อมูลส่วนบุคคล มิจฉาชีพเอาเบอร์เรามาจากไหน พบสาววัย 30 ปี ลักลอบขายข้อมูลคนไทยกว่า 1 ล้านรายชื่อผ่านเฟซบุ๊ก โดยได้ข้อมูลมาจากเว็บพนันออนไลน์ที่เคยทำงานด้วย
ข่าวใหญ่สะเทือนแก๊งคอลเซนเตอร์ ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาหญิงวัย 30 ปี ที่ลักลอบขายข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยกว่า 1 ล้านรายชื่อผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยผู้ต้องหาเฉลยหมดเปลือก ว่าได้เบอร์คนไทย และข้อมูลส่วนตัวมาจากการทำงานเป็นกราฟิกดีไซน์ให้กับเว็บพนันออนไลน์แห่งหนึ่ง
ตำรวจได้ล่อซื้อข้อมูลจำนวน 2 แสนรายชื่อในราคา 3,000 บาท และพบว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นข้อมูลจริง มีทั้งชื่อ นามสกุล หมายเลขบัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์ และไอดีไลน์ นอกจากนี้ ผู้ต้องหายังได้ให้โปรแกรมยิง SMS ฟรีแก่ผู้ซื้ออีกด้วย
จากการตรวจค้นห้องเช่าของผู้ต้องหา ตำรวจพบของกลางเป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง ซึ่งภายในมีข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยกว่า 1 ล้านรายชื่อ
ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ได้ขายข้อมูลส่วนบุคคลให้กับผู้อื่นไปแล้ว 10 ครั้ง โดยผู้ซื้อสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปหาผลประโยชน์ต่อได้ หลังจากนั้น ตำรวจอยู่ระหว่างการขยายผลเพื่อหาตัวผู้ร่วมขบวนการทั้งหมดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นั่นจึงไม่แปลกใจ ว่าทำไมแก๊งคอลเซนเตอร์ถึงเอาเบอร์เรามาได้ ในเคสนี้ กระบวนการคือ คนไทยเล่นพนันออนไลน์ กรอกข้อมูลกับเบอร์โทร หญิงสาวเป็นคนในเว็บพนัน ดูดข้อมูลคนไทยกว่าล้านชื่อมาโพสต์ขายต่อ แก๊งค์คอลเซนเตอร์เห็นจึงมาติดต่อซื้อ จากนั้นพวกมันก็โทรมาหลอกเงินเราอีกที
ปีเดียว คนไทยถูกหลอกโอนเงินให้มิจฉาชีพ 5 หมื่นล้านบาท
สถิติที่น่าตกใจจากงานวิจัยโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา คนไทยกว่า 36 ล้านคนตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมสูงถึง 49,845 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วแต่ละรายสูญเสียเงินไปกว่า 2,660 บาท
กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ Gen Y เป็นกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อมากที่สุดและมีความเสียหายทางการเงินสูงที่สุด โดยรูปแบบการหลอกลวงที่พบมากที่สุดคือการซื้อสินค้าออนไลน์และการหลอกให้ลงทุน นอกจากนี้ ยังมีการหลอกลวงในรูปแบบอื่นๆ เช่น การหลอกรับสมัครงาน การหลอกว่ามีพัสดุตกค้าง และการหลอกให้กู้เงิน
น่าสนใจว่าแม้กลุ่ม Gen Z จะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันภัยออนไลน์มากกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่กลับตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในสัดส่วนที่สูงกว่า
ผลกระทบจากการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ไม่ได้มีเพียงแค่ความเสียหายทางการเงินเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของเหยื่ออีกด้วย โดยกว่า 60% ของผู้ถูกหลอกลวงรู้สึกโทษตัวเอง และกว่า 40% รู้สึกหวาดกลัวต่อการดำเนินชีวิต
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การหลอกลวงทำงานต่างประเทศโดยให้โอนเงินค่าประกันหรือค่าดำเนินการ มีอัตราการตกเป็นเหยื่อสูงที่สุดถึง 35.6% และมีมูลค่าความเสียหายต่อคนสูงที่สุดถึง 31,714 บาท”
เทคนิคป้องกันมิจฉาชีพ ไม่ต้องเป็นเหยื่อเมื่อมันโทรเบอร์หาเรา
ไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ อย่าไว้ใจข้อความหรือลิงก์ที่ไม่รู้จักที่มา ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนคลิกหรือกรอกข้อมูล
ตั้งรหัสผ่านให้แข็งแกร่ง ใช้รหัสผ่านที่คาดเดายาก และไม่ใช้รหัสเดียวกันในหลายบัญชี
เปิดใช้งานการยืนยันตัวตนสองชั้น (2FA) เพิ่มความปลอดภัยด้วยการยืนยันตัวตนผ่าน OTP หรือแอปพลิเคชัน
อัปเดตซอฟต์แวร์และระบบปฏิบัติการ เพื่อป้องกันช่องโหว่ที่มิจฉาชีพอาจใช้โจมตี หรือควบคุมมือถือเราจากระยะไกล
ติดตั้งโปรแกรมแอนตี้ไวรัสและไฟร์วอลล์ เพื่อป้องกันมัลแวร์และการบุกรุกจากภายนอก
ระวังการใช้ Wi-Fi สาธารณะ มิจฉาชีพอาจดักจับข้อมูลได้ง่ายในเครือข่ายที่ไม่ปลอดภัย
ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกลโกงต่างๆ เพื่อรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อฃ
อย่าหลงเชื่อเบอร์โทรที่ติดต่อมาว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการ เพราะเจ้าหน้าที่ตัวจริงไม่ติดต่อหาประชาชนด้วยไลน์ หรือเบอร์โทรใดๆ ทั้งสิ้น
ดังนั้น เมื่อไม่แน่ใจว่าคนที่คุยด้วยคือใคร อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินไปเด็ดขาด!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เตือนคนใช้ LINE ได้รับข้อความนี้ อย่ากดเด็ดขาด! ลิงก์มิจฉาชีพ
- สลด หนุ่มวัย 47 ปี เครียด ถูกแก๊งคอลเซนเตอร์หลอก ผูกคอลาโลกดับ
- มุกใหม่มิจฉาชีพ หลอกเปิดวีดีโอคอล ขอรหัสเข้าแอปฯ ธนาคาร ด้วยการกดรหัส *131*