ข่าวข่าวการเมือง

ประวัติ “อิบราฮิม ไรซี” ประธานาธิบดีอิหร่าน หัวรุนแรง จุดรุ่งเรืองจนถึงความตาย

ประวัติของ อิบราฮิม ไรซี หรือชื่อเต็ม อิบราฮิม ไรโซลซาดาตี เกิดเมื่อเดือนธันวาคม 1960 เสียชีวิต 19 พฤษภาคม 2024 อายุ 63 ปี จากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกในจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก หลังภารกิจไปเปิดเขื่อนที่เขตชายแดนอาร์เซอร์ไบจาน

อิบราฮิม ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 8 ของอิหร่าน ตั้งแต่ปี 2021-2024

Advertisements

จากลูกนักบวชสู่อัยการ

ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าเด็กหนุ่มผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลามอย่างแรงกล้า เกิดที่เมืองมัชฮัด เมืองใหญ่อันดับสองของอิหร่านและเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวมุสลิมชีอะห์ มีพ่อเป็นนักบวช จะหันเหชีวิตเข้าสู้เส้นทางการเมือง

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังจากที่อิบราฮิมเข้าเรียนโรงเรียนสอนศาสนาในเมืองศักดิ์สิทธิ์ของกอมเมื่ออายุ 15 ปี ได้ผ่านเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านชาห์ซึ่งถูกโค้นล้มลงในปี 1979 ช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติอิสลาม นำประเทศเข้าสู่รัฐศาสนา

ต่อมาอิบราฮิม เข้าร่วมฝ่ายตุลาการและทำหน้าที่เป็นอัยการในหลายเมือง อยู่ในสังกัดของอยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ซึ่งกลายมาเป็นประธานาธิบดีของอิหร่านในปี 1981

เขามักถูกเรียกว่า “คนฆ่าแห่งเตหะราน” เนื่องจากเป็นหนึ่งในสี่คนของคณะกรรมการอัยการที่รับผิดชอบการประหารชีวิตนักโทษการเมืองหลายพันคนในอิหร่านในปี 1988 และถูกเรียกเป็น “คณะกรรมการมรณะ”

ฮิบราฮิมถูกคว่ำบาตรจากสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของสหรัฐฯ ตามคำสั่งบริหารที่ 13876 ด้วยข้อกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ มีรายงานอ้างว่าเขาสั่งประหารคนไปประมาณ 5,000 คน

Advertisements

เขายังเคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าฝ่ายตุลาการ (2004–2014), อัยการสูงสุด (2014–2016) และหัวหน้าฝ่ายตุลาการ (2019–2021) ไรซียังเป็นผู้ดูแลและประธานของ Astan Quds Razavi ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปี 2019

(Iranian Presidency Office via AP)

ลงเล่นการเมือง เป็นประธานาธิบดี

อิบราฮิมลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2017 ในฐานะผู้สมัครของกลุ่มอนุรักษ์นิยม แนวร่วมกองกำลังปฏิวัติอิสลาม แต่แพ้ให้กับประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ที่ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งด้วยคะแนนเสียง 57% ต่อ 38.3%

เขาไม่ยอมแพ้ ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2021 และชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 62.9% เข้ารับตำแหน่งต่อจากฮัสซัน รูฮานี

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2021 อิบราฮิมได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีของอิหร่านโดยคำสั่งของผู้นำสูงสุดอาลี คาเมเนอี ในสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตน อิบราฮิมระบุว่ารัฐบาลของเขาจะพยายามยกเลิกการคว่ำบาตรต่ออิหร่านที่กำหนดโดยสหรัฐอเมริกา แต่ยังคงยืนหยัดไม่ให้ต่างชาติมากำหนดวิธีการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ

(Iranian Presidency Office via AP)

นโยบายต่างประเทศ ต่อต้านตะวันตก ฝักใฝ่รุนแรง

หลังจากการล่มสลายของกรุงคาบูลให้กลุ่มตาลีบัน อิบราฮิมระบุว่าการถอนกำลังทหารอเมริกันจากอัฟกานิสถานเป็นโอกาสให้ประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น เขายังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลที่รวมทุกกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน ป้องกันการรุกรานจากสหรัฐอเมริกา

ในเดือนเมษายน 2022 อิบราฮิมเตือนว่าอิสราเอลจะถูกโจมตีโดยกองกำลังอิหร่านหากมี “การเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย” ต่อต้านอิหร่าน

อิบราฮิมเคยตั้งคำถามว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ในการสัมภาษณ์รายการ “60 Minutes” ของ CBS เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2022 ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากด้วยการแนะนำว่าถึงแม้มีสัญญาณว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวเกิดขึ้นจริง แต่ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม ซึ่งคำกล่าวนี้ถูกประณามว่าเป็นการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว

ในเดือนมีนาคม 2022 ช่วงสงครามรัสเซียบุกยูเครน เขากล่าาวว่าจะสนับสนุนรัสเซียเมื่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียเริ่มต้นขึ้น

ฮิบราฮิมสรรเสริญกลุ่มฮามาสที่โจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม โดยกล่าวว่าการกระทำเหล่านี้จะนำไปสู่การล่มสลายของอิสราเอล เขาประณามการกระทำของอิสราเอลในฉนวนกาซาระหว่างสงครามอิสราเอล-ฮามาส และกล่าวหาอิสราเอลว่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวปาเลสไตน์ในกาซา “ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐฯ และบางประเทศในยุโรป” ในเดือนมกราคม 2024 เขาทำนายว่าสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสจะนำไปสู่ “การทำลายล้างของอิสราเอล

อิบราฮิมเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่อิหร่าน 9 คนที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรในเดือนพฤศจิกายน 2019 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ มีการร้องขออย่างเป็นทางการให้จับกุมอิบราฮิมในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหากเขาเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2021 ในสกอตแลนด์

นี่เป็นเหตุผลที่เขายกเลิกการเดินทางไปเจนีวาในเดือนธันวาคม 2023 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทในการทรมานและสังหารนักโทษในปี 1988 ซึ่งเขาอาจถูกจับกุมได้

(Azerbaijani Presidential Press Office via AP)

มุมมองทางการเมือง

อิบราฮิมถูกมองว่าเป็นนักการเมืองสายแข็ง เขาสนับสนุนการแยกเพศชายหญิงอย่างเข้มงวด กล่าวในการให้สัมภาษณ์ในปี 2014 เกี่ยวกับแผนการแยกเพศในเทศบาลเตหะรานว่า “ผมคิดว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวที่ดีเพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานได้ดีกว่าในบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเหมาะสม” เขายังสนับสนุนการทำให้อิสลามเข้ามามีบทบาทในมหาวิทยาลัย การแก้ไขอินเทอร์เน็ต และการเซ็นเซอร์วัฒนธรรมตะวันตก

เขากล่าวว่าการตัดมือขโมย ซึ่งเป็นไปตามการตีความกฎหมายชารีอะห์ เป็นหนึ่งใน “เกียรติยศของเรา” และการลงโทษดังกล่าวจะไม่จำกัดอยู่แค่ในปัจจุบันแต่จะดำเนินต่อไปในอนาคต เขายังกล่าวว่าเขาควรได้รับเกียรติและเคารพในบทบาทที่ประหารชีวิตนักโทษการเมืองหมู่ในอิหร่านปี 1988

ส่งเสริมสิทธิสตรี

ในสื่อที่รัฐเป็นผู้ควบคุม อิบราฮิมได้กล่าวว่า “ไม่มีใครมีสิทธิ์ละเมิดเสรีภาพและสิทธิของเด็กหญิงและสตรี” และ “การพูดถึงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจโดยไม่พูดถึงบทบาทของสตรีนั้นไม่สมบูรณ์” เขาเน้นว่า “สิทธิสตรีเป็นสิทธิที่พระเจ้าประทานมา และรัฐบาลไม่ควรเพียงแต่รักษาสิทธินี้ไว้ แต่ยังต้องสร้างเงื่อนไขให้สิทธินี้เจริญรุ่งเรืองด้วย” และ “ในหลาย ๆ ด้าน บทบาทของสตรียังขาดหายไป และความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดริเริ่มและนวัตกรรมของสตรีสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มาก”

อย่างไรก็ตาม อิบราฮิมได้ลงนามในคำสั่งที่กำหนดให้หญิงสาวสวมใส่ฮิญาบอย่างเข้มงวดขึ้น

เกลียดรักร่วมเพศ

อิบราฮิมได้กล่าวคำพูดเหยียดหยามเกี่ยวกับการรักร่วมเพศ เรียกความสัมพันธ์เพศเดียวกันว่าเป็น “ความป่าเถื่อน” ศูนย์สิทธิมนุษยชนในอิหร่านกล่าวว่าคำพูดแบบนี้เพิ่มความอคติและความรุนแรงต่อบุคคลที่เป็น LGBTQ+ ในประเทศ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button