ข่าวข่าวการเมือง

‘ศิโรตม์’ ชม ‘หมอเก่ง วาโย’ อภิปรายเรื่องชั้น 14 ได้ดี ใช้ความรู้ตั้งคำถาม

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ชม หมอเก่ง วาโย อภิปรายเรื่องชั้น 14 ได้ดี ใช้ความรู้แพทย์ตั้งคำถาม กับรัฐบาลในการให้อภิสิทธิ์อดีตนายก

นาย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กถึง อภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ต่อการทำงานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยนายศิโรตม์ ได้ชื่นชม นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในการอภิปรายเรื่องชั้น 14 ระบุว่า “หมอเก่ง วาโย อภิปรายเรื่องชั้น 14 ได้ดีและเป็นระบบมาก โดยเฉพาะการใช้ความรู้การแพทย์ตั้งคำถามกับรัฐบาลในการให้อภิสิทธิ์อดีตนายก

ที่น่าทึ่งคือหมอเก่งเริ่มโดยสมมติฐานว่าอดีตนายกป่วยจริงและคุณหมอทำหน้าที่สุจริต แต่ต่อให้เป็นแบบนั้นก็พบความพิรุธแง่กระบวนการแพทย์มากมาย”

ทั้งนี้เมื่อวานนี้ (3 เมษายน 67) นพ.วาโกล่าวอภิปรายโดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาตัวนอกเรือนจำของอดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยการตั้งข้อสมมติฐานว่าเป็นผู้ป่วยจริง ซึ่งแพทย์ทั้งหมดที่อยู่ในกระบวนการเป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรฐานหรือไม่ เหตุใดโซ่ตรวนแห่งความเชื่อมั่นจึงขาดลง ประชาชนไม่เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นมีความยุติธรรม

ตนเองได้พิจารณาเบื้องต้นจากประวัติและอาการป่วยของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอายุ 75 ปี ว่ามีโรคความดันโลหิตสูง และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคประจำตัว โดยพบว่าในกลางดึกของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 มีอาการแน่นหน้าอก ซึ่งหลังการตรวจร่างกายพบว่าสัญญาณชีพและความดันโลหิตสูง ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำ และได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าอยู่ในภาวะอันตรายเสี่ยงต่อชีวิต ควรที่จะส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจภายในเวลาไม่ถึง 20 นาที จึงอยากขอคำตอบจากรัฐมนตรีว่าผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการรักษาที่รวดเร็วเหมือนกรณีดังกล่าวด้วยหรือไม่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต้องชี้แจงให้ชัดว่า แท้จริงนั้นโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพแค่ไหน สามารถรักษาอาการแน่นหน้าอกได้หรือไม่ พร้อมทั้งแสดงข้อมูลทั่วไปของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่า เป็นโรงพยาบาลที่มีขนาด 9 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยจำนวน 22,000 ตารางเมตร และมีเตียงรักษาผู้ป่วย 500 เตียง

อีกทั้งยังมีแผนกต่างๆ อีกมาก ทั้งจิตเวช กายภาพบำบัด หอผู้ป่วยอายุรกรรม แผนกโรคต่างๆ มีเครื่องฟอกไต ฟอกเลือด รวมถึงมีห้องผ่าตัดใหญ่ครบครัน สามารถเรียกได้ว่าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่ง สปสช. โดยกระทรวงสาธารณสุขนั้นได้จัดให้โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายที่ต้องรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์อื่นๆ ทั้ง 7 ที่ทั่วกรุงเทพมหานครด้วย

นพ.วาโยอภิปรายว่า ระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลตำรวจอย่างนาน 180 วัน เป็นสารตั้งต้นซึ่งนำมาสู่คำถามมา 12 ข้อ

  1. โรงพยาบาลในเรือนจำยังไม่สามารถหาข้อสรุปว่าสามารถรักษาภาวะฉุกเฉินทางหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดสมองได้หรือไม่
  2. ผู้ต้องขังที่ป่วยทุกคนจะได้รับการส่งตัวถึงโรงพยาบาลนอกเรือนจำภายในระยะเวลา 20 นาที นับแต่ที่มีอาการอย่างเท่าเทียมกันทุกคนหรือไม่
  3. มีการผ่าตัดครั้งที่ 1 หรือไม่ เกิดขึ้นเมื่อไร ใช้ห้องผ่าตัดอะไร และเข้าพักรักษาตัวที่หออภิบาลผู้ป่วยอะไร
  4. ระหว่างที่ผู้ป่วยเจ็บแน่นหน้าอกนั้น ผู้ป่วยพ้นจากภาวะฉุกเฉินเมื่อใด และใช้เวลาทั้งสิ้นกี่วัน มีข้อบ่งชี้ในการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่อหลังจากป่วยอีก 30 วัน หรือ 60 วันอย่างไร
  5. หลังการผ่าตัดในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2566 ข้อบ่งชี้การพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลยาวนานถึง 180 วันคืออะไร
  6. ผู้ต้องขังที่ป่วยทุกคนจะสามารถขอผ่าตัดแบบทางเลือกได้หรือไม่
  7. ตามกฎหมายห้องพักพิเศษไม่ใช่ห้องควบคุมพิเศษ เป็นห้องพิเศษที่โรงพยาบาลจัดไว้เพื่ออะไร เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร และสิ้นสุดลงเมื่อไร
  8. ความเห็นของแพทย์ที่โรงพยาบาลตำรวจ กับรายงานของกรมราชทัณฑ์ที่ส่งให้อธิบดีมีรายละเอียดที่ไม่ตรงกัน แท้จริงมีข้อสรุปอย่างไร
  9. รัฐมนตรีได้ตรวจสอบหรือตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่าแพทย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรฐานแล้วหรือไม่
  10. สรุปแล้วตามมาตรา 52 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ กรณีความชอบกับราชการเป็นพิเศษเกิดก่อนต้องขังได้ใช่หรือไม่ หรือย้อนกลับไปกี่ปี และผู้ต้องขังทุกคนจะยึดหลักเกณฑ์นี้นับตั้งแต่วันนี้ได้หรือไม่
  11. รายงานการประเมิน 9 คะแนนรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติเองกับมือ ท่านได้ตรวจสอบความถูกต้องว่าตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่
  12. ท่านได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าแพทย์กับพยาบาลวิชาชีพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทั้งหมดได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรฐานจริง โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่จะออกจากเรือนจำ

นพ.วาโยกล่าวว่า สิ่งที่ตนเองพูดนี้เพื่อเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ป่วย เพราะสังคมก็เริ่มตั้งคำถามและได้รับข้อมูลที่ผิดๆ รัฐมนตรีก็ควรที่จะต้องขยายความให้ชัด ขณะเดียวกันก็อยากให้รัฐมนตรีไปตรวจสอบว่าแพทย์ผู้รักษาได้มีการแนะนำคนไข้อย่างถูกต้องหรือไม่ อดีตนายกรัฐมนตรีใส่เฝือกแขน ซึ่งโดยปกติใส่ได้ไม่เกิน 2 เดือน หากใส่เกินไหล่จะติด แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าตัดใหม่อีกรอบ ต้องเจ็บตัวฟรีอีกครั้ง แต่กรณีนี้ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ครบ 2 เดือนนานแล้ว จึงอยากถามว่าแพทย์ให้คำแนะนำถูกต้องหรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button