‘ทนายด่าง’ ยื่นคัดค้านฝากขังผัด 4 ‘ตะวัน-แฟรงค์’ ชี้ทั้งสองป่วยหนัก
ทนายด่าง ยื่นคัดค้านฝากขังผัด 4 ตะวัน และ แฟรงค์ อยากขอความเห็นจากศาล ทั้งสองอาการป่วยหนัก อดอาหารต่อเนื่องหลายวัน
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางมาที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อคัดค้านการฝากขังผัดที่ 4 น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ แฟรงค์ สองผู้ต้องหาคดีขบวนเสด็จ และถูกแจ้งข้อหา ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยทั้งสองอดอาหารเพื่อประท้วงตามที่มีรายงานไปก่อนหน้านี้นั้น
โดยทนายด่างกล่าวว่า ตอนนี้อาการของผู้ต้องหาทั้งคนก็ไม่ค่อยดีตามที่มีข่าวเผยแพร่จากทางศูนย์ทนายความฯ แต่ตนนั้นไม่ได้เข้าไปเยี่ยมมาเป็นอาทิตย์แล้ว ให้น้องทนายคนอื่นไปเยี่ยม ตนทราบว่ามีหลายๆ คนกระแนะกระแหน ว่าทั้ง 2 คนอดข้าวอดน้ำว่าเพื่ออะไร ตนบอกได้ว่าเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ต้องยึดตามหลักการ 3 ข้อ คือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก และประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชน
“วันนี้ตนได้เดินทางมาเพื่อขอไต่สวนคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 4 วันนี้ผู้ต้องหาถูกฝากขังครบผัดที่ 3 อยู่ในคุกมา 36 วันแล้ว จะครบวันนี้ เวลา 16.00 น. โดยตะวันกับแฟรงค์ ถูกแจ้งข้อหามาตรา 116 วรรคสอง คือโทษไม่เกิน 7 ปี ไม่มีโทษขั้นต่ำ และทางศาลรับฝากขัง เพราะตำรวจอ้างว่าสอบพยานไม่เสร็จ จากการไต่สวนครั้งที่แล้วเหลือ พยานอีก 3-4 ปาก ซึ่งเป็นตำรวจด้วย วันนี้จะขอเบิกตัว ผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ขอเปิดตัวมา เหตุผลที่เบิกตัวมาทั้งๆ ที่เด็กเจ็บป่วย เราอยากได้ความเห็นจากศาล เนื่องจากการขอประกันตัวครั้งที่แล้ว ศาลก็บอกว่าอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลมีความปลอดภัยแล้วแข็งแรงก็อยู่ได้แล้ว อย่างที่ศาลเชื่อมันก็คงต้องเบิกตัวมาได้ เพราะการไต่สวนเรื่องนี้ต้องอยู่ต่อหน้าผู้ต้องหาว่าเขาคัดค้านหรือไม่ แล้วตนจะถามว่าทําไมต้องฝากขังต่อ คดีอื่นๆ ได้ฝากขังหรือเปล่า” นายกฤษฎางค์กล่าว
ความจริงแล้วต้องเข้าใจว่าการฝากขัง คือการเอาตัวมาก่อนที่จะมีการฟ้องศาล ซึ่งยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ตรงที่ว่า ไม่ให้สิทธิเด็กในการประกันตัวน้องสองคน ถ้าศาลไม่รับต่อ ศาลก็ปล่อยตัว ไม่ต้องประกัน แต่ถ้าศาลรับฝากขังไว้ก็คงต้องเป็นไปตามกลไก เพราะเด็กก็ประกาศว่าเขาจะไม่ประกันตัว หากพิจารณาตามโทษแล้วจะฝากขังระหว่างการสอบสวนไว้ได้แค่ 48 วัน ถ้าครั้งนี้จะรับฝากขัง ทางตำรวจคงพยายามขวนขวายไปฟ้องคดี แต่ปัญหาคือการฝากขังไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน บางคดีตํารวจก็ให้ประกันตัวบางคดีก็นำผู้ต้องหาไปฝากขัง
ทนายฤษฎางค์ กล่าวปิดท้ายว่า ทางตํารวจก็ยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 ถ้าไม่ฝากขังไว้เด็กก็ไม่ได้หลบหนีไปไหน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแล้วก็ไม่ได้ไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ข่มขู่ใครก็ไม่ได้ แต่ตำรวจก็ยังดันทุรังมาฝากขังและคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ก็ตามใจ แต่ว่าขอให้ทําแบบนี้ทุกคดีก็แล้วกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง