พาเที่ยว ‘สะพานมอญ’ สะพานไม้ยาวที่สุดในไทย พร้อมส่องวิถีชีวิตชาวมอญ
“สะพานมอญ” หรือ “สะพานอุตตมานุสรณ์” หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของจังหวัดกาญจนบุรี ที่เหมาะสำหรับศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตคนในท้องถิ่น รวมไปถึงวัฒนธรรมความหลากหลายที่ไม่ได้พบเห็นกันง่าย ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแล้ว สะพานมอญก็ถือเป็นที่เที่ยวที่มีภาพบรรยากาศน่าประทับใจอีกแห่งหนึ่งด้วยเช่นกัน
แต่กว่าจะมาเป็นสะพานมอญอย่างที่นักท่องเที่ยวได้เห็นทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการสร้างสะพานมอญนั้นไม่ได้เป็นเพียงการสร้างทางเชื่อมระหว่างชุมชนชาวมอญสังขละบุรีกับชุมชนชาวไทยเท่านั้น แต่เบื้องหลังการก่อสร้างสะพานมอญมีเรื่องราวของความศรัทธาและพลังแห่งมิตรภาพแฝงอยู่ ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามอ่านไปพร้อมกันได้เลย
‘สะพานมอญ’ เส้นทางเชื่อมใจชุมชนชาวสังขละบุรี
ประวัติสะพานมอญ สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในไทย
สำหรับสะพานมอญ หรือสะพานอุตตมานุสรณ์ ตั้งอยู่ที่อำเภอสังขละบุรี เป็นสะพานไม้ที่ยาวเป็นอันดับที่ 2 ของโลกและเป็นอันดับที่ 1 ของไทย ด้วยความยาวถึง 850 เมตร และเป็นสะพานที่ใช้เชื่อมระหว่าง 2 ริมฝั่งของแม่น้ำ “ซองกาเลีย” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ฝั่งโน้น”
ประวัติของสพานแห่งนี้เกิดขึ้นจากการร่วมกันสร้างของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่อำเภอสังขละบุรี ก็คือชาวไทยเชื้อสายมอญ โดยสร้างขึ้นตามประสงค์ของหลวงพ่ออุตตมะ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ในระหว่างปี พ.ศ. 2529-2530 โดยก่อนที่สะพานนี้จะสร้างขึ้น ชาวบ้านทั้งสองผั่งแม่น้ำซองกาเลียเดินทางข้ามไปมาหาสู่กันโดยการนั่งแพครั้งละ 1 บาท
การสร้างสะพานเพื่อให้คนในชุมชนเดินทางไปมาได้สะดวกนั้น จะเชื่อมต่อหมู่ที่ 2 กับหมู่ที่ 3 ของตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี โดยหลังจากที่สร้างเสร็จสะพานแห่งนี้ก็ถือเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นสะพานแห่งมิตรภาพและพลังความศรัทธาที่คนในชุมชนทั้งชาวไทยและชาวมอญมีต่อหลวงพ่ออุตตมะ
จุดเด่นสะพานมอญ สัมผัสวิถีชีวิตยามอรุณรุ่ง
จุดเด่นของสะพานมอญ นอกจากจะเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยแล้ว บริเวณสะพานแห่งนี้ยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณ สามารถมองเห็นลำห้วยสายต่าง ๆ คือ ซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี ที่ไหลมารวมกันบริเวณ “สามประสบ” ต้นกำเนิดของแม่น้ำแควน้อย และวิถีชีวิตของชาวบ้านสองฝั่งลำน้ำ
นอกจากนี้ไฮไลต์เด็ดของสะพานมอญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวในแต่ละปี คือวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายมอญที่จะรอใส่บาตรกันในทุก ๆ เช้า โดยนักท่องเที่ยวจะได้เห็นวัฒนธรรม “เทินของบนหัว” ของคนในท้องถิ่นเพื่อนำไปทำบุญที่วัด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง ทั้งนี้ก็มาจากความเชื่อว่าชายผ้าถุงนั้นเป็นของต่ำ จึงไม่ควรจะสัมผัสของที่จะใช้ถวายพระที่เป็นของสูง จึงต้องเทินของไว้บนหัวนั่นเอง
มัคคุเทศก์น้อยนำเที่ยวบนสะพานมอญ
บนสะพานมอญนอกจากกิจกรรมทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าแล้ว อีกหนึ่งสีสันที่ขาดไม่ได้ของที่นี่คือ “มัคคุเทศก์น้อย” ซึ่งเป็นเด็ก ๆ ในพื้นที่ของหมู่บ้านแห่งนี้ โดยพวกเขาจะคอยประจำการอยู่ในแต่ละช่วงของสะพาน และจะคอยเดินเข้าหานักท่องเที่ยวด้วยแววตาที่แสดงถึงอยากเล่าประวัติของสะพานไม้แห่งนี้ให้นักท่องเที่ยวได้ฟังกัน
แต่ก่อนที่เด็ก ๆ ในชุมชนจะมาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์น้อยได้นั้น จะต้องผ่านการอบรมจากทางเทศบาลวังกะ เกี่ยวกับเรื่องของประวัติศาสตร์ และสถานที่เสียก่อน โดยส่วนมากแล้วผู้ที่มาทำหน้าที่นี้จะสมัครใจมาเอง อีกทั้งยังมีเหล่าเด็ก ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าตัวน้อย คอยขายดอกไม้สำหรับบูชาพระ และบริการทาแป้งทานาคาให้กับนักท่องเที่ยวด้วย
และข้อมูลทั้งหมดที่เดอะไทยเกอร์นำมาฝากในวันนี้ ก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความมหัศจรรย์สถานที่ท่องเที่ยวสะพานมอญ หากใครได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรีและอยากสัมผัสวิถีชุมชน พร้อมทั้งบรรยากาศภาพตะวันทอแสงในยามเช้า ก็อย่าพลาดแลนด์มาร์กสำคัญอย่างสะพานมอญกันเด็ดขาด